จาก Data Silos สู่ Data Interoperability Ecosystem: พลังของการเชื่อมโยงข้อมูล
- timeconsulting10
- 30 พ.ค.
- ยาว 2 นาที

การก้าวสู่การเป็น “Data-Driven Organization” หรือองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การที่องค์กรมีข้อมูลจำนวนมากเท่านั้น แต่องค์กรนั้น ๆ จะต้องสามารถบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่หลายองค์กรยังเผชิญคือ การที่ข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ในรูปแบบไซโล ไม่สามารถเชื่อมโยงหรือใช้งานร่วมกันได้ ส่งผลให้ศักยภาพของข้อมูลยังถูกจำกัดไว้
บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับแนวคิด Data Interoperability หรือ “ความสามารถในการทำงานร่วมกันของข้อมูล” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนข้อมูลที่กระจัดกระจาย ให้กลายเป็นทรัพยากรที่เชื่อมโยง มีคุณค่า และพร้อมใช้งานในการตัดสินใจและพัฒนาองค์กรอย่างแท้จริง พร้อมแนะแนวทางที่องค์กรไทยสามารถเริ่มต้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
Data Interoperability คืออะไร
Data Interoperability (ความสามารถในการทำงานร่วมกันของข้อมูล) คือ ขั้นตอนหรือกระบวนการที่ทำให้ข้อมูลในหน่วยงานสามารถรวบรวมและแลกเปลี่ยน มีมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องมาจากระบบเดียวกัน แต่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ระดับของ Data Interoperability
แนวคิดเรื่อง ระดับของ Data Interoperability ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้สามารถวางแผนและพัฒนาระบบให้รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันที่ราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยทั่วไป Data Interoperability จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับหลัก
1. ระดับเทคนิค (Technical Interoperability): เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ทำให้ระบบสารสนเทศต่าง ๆ สามารถติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ หากไม่มีการเชื่อมต่อที่เหมาะสม ข้อมูลจะไม่ถูกส่งต่อหรือรับได้ ตัวอย่างเช่น
การจัดการความปลอดภัยของข้อมูล อย่างการเข้ารหัส การพิสูจน์ตัวตน และการอนุญาต
การใช้โปรโตคอลและมาตรฐานการสื่อสาร เช่น HTTP, RESTful API
2. ระดับความหมาย (Semantic Interoperability): เป็นการทำให้ข้อมูลที่แลกเปลี่ยนนั้นมีความหมายเหมือนกันและถูกต้องในทุกฝ่าย ช่วยป้องกันความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อน ตัวอย่างเช่น
การกำหนดคำศัพท์ร่วม เพื่อให้ระบบใช้คำนิยามเดียวกัน เช่น คำว่า “ลูกค้า” หรือ “วันที่” ต้องมีความหมายตรงกัน
การจัดการหน่วยวัดและรูปแบบข้อมูล เช่น การกำหนดหน่วยเงิน หน่วยวัดระยะทาง
3. ระดับองค์กร (Organizational Interoperability): เป็นการสร้างกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร ตัวอย่างเช่น
การกำหนดนโยบายและข้อตกลงร่วมกัน (Data Sharing Agreements) เช่น ข้อตกลงเรื่องการรักษาความลับข้อมูล และการใช้ข้อมูล
โครงการ Digital ID และ NDID เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้สามารถยืนยันตัวตนข้ามหน่วยงานได้ เช่น ใช้แอปธนาคารยืนยันตัวตนเมื่อติดต่อราชการ

ทำไมองค์กรยุคใหม่ถึงต้องเข้าใจเรื่องนี้ และการใช้ Data Interoperability มีประโยชน์อย่างไร
ในยุคที่ข้อมูลมีอยู่มากมาย สิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญไม่ใช่แค่ “การมีข้อมูล” แต่คือ “การแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” หัวข้อนี้จะพาไปสำรวจว่าทำไม Data Interoperability จึงเสำคัญ พร้อมชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการเปลี่ยนข้อมูลทั่วไปให้กลายเป็น ทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์ อย่างแท้จริง
ลดปัญหาข้อมูลแยกส่วน (Data Silos): ช่วยให้ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันได้ ลดการเก็บข้อมูลซ้ำ
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน: องค์กรสามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และถูกต้อง
สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน: องค์กรที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดีจะสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้รวดเร็ว และสร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจ
ลดต้นทุนและความซับซ้อน: ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อนและต้นทุนในการจัดเก็บ
สนับสนุนการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Decision Making): เมื่อข้อมูลเชื่อมโยงและมีมาตรฐานเดียวกัน ผู้บริหารและพนักงานสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วบนพื้นฐานของข้อมูลจริง
กรณีศึกษาการประยุกต์ใช้ Data Interoperability
หลายองค์กรทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงของข้อมูล โดยมีตัวอย่างทั้งภาครัฐและเอกชนที่นำ Data Interoperability ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศไทย ได้แก่
1. โครงการ NDID (National Digital ID)
โครงการ NDID (National Digital ID) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล ระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องไปที่สาขาหรือหน่วยงานรัฐ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธนาคาร สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐ ผ่านมาตรฐานกลางเดียวกัน ทั้งยังสามารถช่วยส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินและบริการดิจิทัลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. โครงการ A-MED (Home Isolation)
ในช่วงโควิด-19 ที่ต้องดูแลผู้ป่วยแบบ Home Isolation มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โครงการ A-MED ใช้ฐานข้อมูลจาก MongoDB ที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว พร้อมวิเคราะห์โครงสร้างข้อมูลเป็น Data Dictionary และยังนำมาตรฐานข้อมูลฉุกเฉิน NIEM มาใช้จำกัดความกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว
3. ระบบบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน (Integrated Data Service)
เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง นั้นคือการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เช่น ระบบของกรมการปกครองที่เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลไหลเวียนได้อย่างปลอดภัย เพิ่มความเร็วในการให้บริการ ทั้งยังสนับสนุนบริการสาธารณะที่ทันสมัย และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

อุปสรรคของ Data Interoperability
แม้ Data Interoperability จะเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า การดำเนินงานให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างแท้จริงยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ได้แก่
ความแตกต่างของมาตรฐานและโครงสร้างข้อมูล: แต่ละหน่วยงานหรือระบบมักใช้มาตรฐาน โครงสร้างข้อมูล หรือคำเรียกข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเข้าใจตรงกัน
ปัญหาเชิงเทคนิค: การเชื่อมต่อระบบที่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีแตกต่างกัน ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือโปรโตคอลการสื่อสาร ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นในการพัฒนาและดูแลระบบร่วม
ข้อจำกัดด้านกฎหมายและนโยบาย: กฎหมายหรือนโยบายภายในองค์กรอาจจำกัดการเข้าถึงหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทำให้เกิดความล่าช้าและความไม่ยืดหยุ่น
ปัญหาด้านคุณภาพข้อมูล: ข้อมูลที่เก็บในแต่ละระบบอาจไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ หรือไม่ได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและเสี่ยงต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดเมื่อข้อมูลถูกนำไปใช้
ปัญหาด้านวัฒนธรรมองค์กรและบุคลากร: การทำงานแบบแยกส่วน (Silo) ภายในหน่วยงาน และการขาดบุคลากรที่มีทักษะด้านข้อมูล ทำให้การขับเคลื่อน Data Interoperability เป็นไปได้ยาก
วิธีการรับมือกับอุปสรรคของ Data Interoperability
การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเป็นเป้าหมายสำคัญในยุคดิจิทัล แต่ก็มีอุปสรรคมากมาย ดังนั้นการรับมือจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือหลายอย่าง วิธีรับมือกับอุปสรรคของ Data Interoperability ได้แก่
กำหนดมาตรฐานกลางและกรอบแนวทางที่ชัดเจน: พัฒนามาตรฐานกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น TGIX ของ DGA ที่ครอบคลุมทั้งระดับเทคนิค ความหมายของข้อมูล และการจัดการองค์กร เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้มาตรฐานเดียวกัน
สร้างข้อตกลงและกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน: กำหนดข้อตกลงด้านกฎหมาย นโยบาย และการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและลดอุปสรรคทางด้านนโยบาย รวมถึงสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างองค์กร
พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างยืดหยุ่น: ออกแบบระบบที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้แม้จะมีเทคโนโลยีหรือโปรโตคอลต่างกัน
ตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ: จัดตั้งระบบบริหารจัดการคุณภาพข้อมูล (Data Quality Management) เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง และทันสมัย ลดความเสี่ยงข้อมูลผิดพลาดและเพิ่มความแม่นยำของข้อมูล
สรุป
Data Interoperability จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นการวางรากฐานสำคัญเพื่อให้องค์กรสามารถใช้ข้อมูลให้เกิดคุณค่า ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคเอกชนที่มีระบบข้อมูลจำนวนมาก โครงสร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นมาตรฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ และเปิดทางสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่
แหล่งอ้างอิง
https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/Knowledge-Sharing/Data-Governance-and-e-Commerce.aspx
https://www.bitglint.com/examples-of-interoperability-definition-and-guide/
https://www.dga.or.th/our-services/digital-platform-services/digitalid/
https://www.mhesi.go.th/index.php/en/news/4174-amed-telehealth-home-isolation.html
http://www1.ldd.go.th/CIO_LDD/calendar_cio/CIO_28/20_01_160659.pdf
https://www.dga.or.th/wp-content/uploads/2015/10/file_a10cdc2d80f3eef296268a64fd3222dd.pdf
https://www.blendata.co/th/ , https://www.zendata.dev/post/what-is-data-interoperability-and-why-is-it-important
https://standard.dga.or.th/wp-content/uploads/2022/08/TGIX_Overview_Framework-v-1.3-sign.pdf