top of page

อุตสาหกรรมไมซ์ โอกาสในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย



อุตสาหกรรมไมซ์ (Meetings, Incentives, Conventions, and Exhibitions) เป็นอุตสาหกรรม ที่พัฒนาการจัดงานทางธุรกิจที่ครอบคลุมการจัดประชุมแบบองค์กร การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล แก่พนักงาน การประชุมแบบสมาคม ไปจนถึงการจัดงานแสดงสินค้า การจัดงานเมกะอีเวนท์ และเทศกาล  ทั้งในระดับองค์กร ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับนานาชาติ ซึ่งถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 2 การขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน มีเป้าหมายในการเปลี่ยนการท่องเที่ยวไทยให้เป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพ ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  โดยอุตสาหกรรมไมซ์สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากการใช้จ่ายสำหรับการจัดกิจกรรมไมซ์  และก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก


ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยได้เผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลง ของบริบทโลกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ความเปราะบางในมิติสังคม การเมือง สงคราม และความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายพื้นที่ ซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องถึงสภาพเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับการพัฒนา และความก้าวหน้าของนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ท้าทายความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดที่ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ อย่างเต็มที่ 



อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 อุตสาหกรรมไมซ์ไทยมีทิศทางการเติบโตเชิงบวก เนื่องด้วยได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดงาน และจำนวนนักเดินทางไมซ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุม และนิทรรศการ หรือ TCEB ได้ตั้งเป้าคาดการณ์รายได้ของอุตสาหกรรมรวมกว่า 140,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายได้จากนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศจำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท และรายได้จากนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 6.3 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและมีจำนวนนักเดินทางไมซ์ตลอดทั้งปี รวมทั้งสิ้น 23.2 ล้านคน แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ภายในประเทศ 22.2 ล้านคน และนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 9.6 แสนคน ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต


ฉากทัศน์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไมซ์

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ให้สอดรับกับบริบทกับการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรม 

และความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมาย โดยคาดการณ์ว่ากลุ่มนักเดินทางไมซ์ที่จะมีอิทธิพลสูงสุดในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็น กลุ่ม Generation Z ที่จะมีสัดส่วนคิดเป็น 26-30% ของประชากรโลก ซึ่งมีความคาดหวังและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น คาดหวังกิจกรรมไมซ์ที่มีคุณค่ามากกว่ารูปแบบการจัดงาน ไม่ตอบสนองต่อกลยุทธ์แบบหว่าน หรือ One-size-fit-all มุ่งเน้นการเข้าร่วมงานที่มีความยืดหยุ่น และช่วยให้การบริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังคำนึงถึงงบประมาณที่มีความคุ้มค่า เพื่อแลกมาซึ่งการได้รับประสบการณ์ที่แท้จริงและเหมาะสมกับเฉพาะบุคคล (Personalization)

ทั้งนี้ แนวโน้มการพัฒนา และภาพอนาคต (Image of Future) จำเป็นต้องตอบโจทย์ความคาดหวังของนักเดินทาง และผู้เข้าร่วมงานไมซ์ ภายใต้กําหนดเป้าหมายและการวางยุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจนในการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจุดแข็งและทรัพยากรที่มี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ ทุนทางวัฒนธรรม และอื่น ๆ มาสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า บริการ รวมถึงพัฒนารูปแบบการจัดงานไมซ์ให้ทันสมัยผ่านการใช้นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานที่สนใจในการหาสิ่งใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจได้ โดยฉากทัศน์ของอุตสาหกรรมไมซ์ (FUTURE OF MICE) สามารถสรุปออกเป็น 7 แนวโน้มสำคัญ ดังนี้ 



  1. Technology Enhancement for High Efficiency &High Effectiveness: นักเดินทางไมซ์ต่างคาดหวังและต้องการให้มีเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการจัดงาน เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยํา เทคโนโลยีที่ช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น การลงทะเบียน การแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์พิเศษในการร่วมงาน เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและสนับสนุน การมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้งานไมซ์บรรลุเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายได้ตามผลลัพธ์ที่ธุรกิจยุคใหม่ต้องการ 

  2. Direct to Big Customers: “กลุ่มลูกค้ารายใหญ่” กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ในการจัดงานไมซ์ สำหรับภาคธุรกิจ และกลุ่มผู้จัดจำหน่าย (Distributor) หรือผู้นําเข้า (Importer) เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงาน Exhibition เนื่องจาก Visitors และ Exhibitors มีความคาดหวังที่จะได้รับการนําเสนอข้อมูลเชิงลึก (Insight) พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถอธิบาย หรือให้ Solution ในการนำไปปรับใช้จริงแก่ผู้เข้าร่วมงานได้มากกว่าเพียงแค่การนำเสนอสินค้าเท่านั้น

  3. MICE For Brand Building: การจัดงานไมซ์ในอนาคตจะไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือสําหรับการทําการตลาดหรือการขายเท่านั้น แต่ยังมุ่งเป้าใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือการสร้างแบรนด์ของธุรกิจ ซึ่งกลุ่มการประชุมองค์กร และการท่องเที่ยงเชิงรางวัล (Meeting and Incentive – MI) ได้นําเอาการจัดงานไมซ์มาใช้เพื่อให้พนักงานเข้าใจถึงทิศทางองค์กร เข้าใจวิสัยทัศน์ และได้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร ในขณะที่กลุ่มการแสดงสินค้า (Exhibition) ต่างคาดหวังให้งานไมซ์ช่วยทําให้ลูกค้ารับรู้ถึงการมีตัวตนของแบรนด์มากยิ่งขึ้น

  4. Value on Experience & New Type of Destination, Format: การได้สัมผัสประสบการณ์จริงที่มีคุณค่า กลายมาเป็นปัจจัยหลักในการคัดเลือกและเข้าถึงจุดหมายปลายทางไมซ์ (MICE Destination) เช่น ประสบการณ์ที่เป็นเนื้อแท้ผ่านการท่องเที่ยว โดยการได้สัมผัสกับวิถีชุมชน และอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Local Identity) การเข้าร่วมกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ (Community-based Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นต้น รวมถึงมีความคาดหวังในสถานที่จัดงานไมซ์ที่แตกต่าง และมีความเชื่อมโยงกับบริบทเชิงพื้นที่มากขึ้นด้วย

  5. Regionalization: การปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ในระดับภูมิภาคมากกว่าการพึ่งพาประเทศที่ห่างไกลออกไปหรือนอกภูมิภาค เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ต้นทุน และรายได้ที่ยังมีความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยในมุมอุตสาหกรรมไมซ์จะก่อให้เกิดการดำเนินกิจกรรมไมซ์ในภูมิภาค และมีแนวโน้มที่การเดินทางในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ในขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศที่อยู่ไกลออกไปนั้นอาจลดน้อยลง

  6. Sustainability Practice: ความยั่งยืนกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการจัดงานไมซ์บนเงื่อนไขที่ไม่สร้างภาระแก่ผู้ประกอบการ ในขณะที่นักเดินทางไมซ์หันมาใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยินยอมที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อการเดินทาง และการเข้าร่วมงาน หรือกิจกรรมไมซ์ที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบ หรือลดคาร์บอนได้เป็นต้น

  7. Flexibility & Resilience Ability: ความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในทุกสถานการณ์ ตลอดจนความยืดหยุ่นในการบริหารการจัดงาน และการเพิ่มทางเลือกในการลดความเสี่ยง (Risk) ที่อาจจะเกิดขึ้น จะกลายไปเป็นความสามารถหลัก (Core Competency) ที่สําคัญสําหรับธุรกิจ และผู้ประกอบการไมซ์ในอนาคต


โอกาสในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์


ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก โดยอาศัยจุดแข็ง โอกาส  

และแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน โดยจากผลการสํารวจความคิดเห็นของนักเดินทางทั่วโลก ประกอบกับข้อมูล 

ทุติยภูมิด้านแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริม 

การจัดประชุม และนิทรรศการ หรือ TCEB แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันของประเทศไทย 

ที่สอดคล้องกับความคาดหวังของนักเดินทางไมซ์ และกระแสการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้ง 3 มิติสําคัญ ได้แก่ 



1. มิติที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น (Lead) และถูกรับรู้ในมุมมองของนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ ได้แก่ การที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งตลาดไมซ์ประเทศ อื่น ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอย่าง ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ประกอบกับอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนจากจากทั่วทุกมุมโลก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลนักท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศที่มีความเหมาะสมต่อการรองรับนักเดินทางเชิงธุรกิจ และผู้เข้าร่วมงานไมซ์ 

2. มิติที่ประเทศไทยกําลังเป็นผู้ตาม (Follow) ประกอบด้วยกลุ่มปัจจัยที่เราถูกรับรู้บ้างแต่ไม่ถือว่า เป็นผู้นํา ได้แก่ ความปลอดภัย (อัตราอาชญากรรรมและอุบัติเหตุ) ความเป็นมืออาชีพของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมไมซ์ การสนับสนุนโดยนโยบายจากภาครัฐ และโอกาสการเติบโตต่อยอดธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม 

3. มิติที่ประเทศไทยกําลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง (Left Behind) เป็นกลุ่มปัจจัยที่มีความคาดหวังสูงจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของนักเดินทางไมซ์ แต่ประเทศไทยยังไม่ถูกรับรู้มากนัก ได้แก่ เทคโนโลยีขั้นสูงที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงานไมซ์ให้สามารถนำเสนอประสบการณ์ล้ำสมัยเพื่อดึงดูดนักเดินทางไมซ์รุ่นใหม่ การเป็นประเทศที่มีความพร้อมในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ เช่น การมีศูนย์วิจัยด้านนวัตกรรม รวมไปถึงการมีจิตสำนึกในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ทั้งนี้ การสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวคิดของประชาคมโลก เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ต้องช่วยกันผลักดัน และร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้ตอบสนองต่อการปรับตัวของ ภาคธุรกิจที่ยึดโยงกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งเป้าการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่การเป็นแหล่งประชุมที่มีมูลค่าสูง (High Value-Added Destination) ต่อไป



แหล่งอ้างอิง 

MICE Intelligence Center  

สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)  

bottom of page