top of page

Digital Disruption คืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ?


Digital disruption, TIME Consulting

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการทำงาน การเรียนรู้ การสื่อสาร และรวมไปถึงการทำธุรกิจ การพัฒนาทางเทคโนโลยีได้ทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่แรงขับเคลื่อนในภาคธุรกิจ แต่ยังเป็นทั้งโอกาสที่เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจสามารถบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นได้พลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม จนเกิดเป็น Digital disruption ส่งผลให้หลากหลายธุรกิจต้องเตรียมตัวรับมืออย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล โดยในบทความนี้เราขอพาผู้อ่านมารู้จักกันว่า Digital disruption คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร และศึกษาตัวอย่างธุรกิจ digital disruption


Digital Disruption คืออะไร?

Digital disruption คือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลกระทบจากความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้ต้องปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย Digital disruption เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจ เนื่องจากนวัตกรรมดิจิทัลก็ทำให้ผู้บริโภคคาดหวังกับการบริการที่มีระดับ ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้นขึ้นอย่างมาก เพราะยิ่งธุรกิจของคุณแตกต่างและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจของคุณก็จะยิ่งเป็นผู้นำในตลาดได้อย่างรวดเร็วมากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนเพิ่มรูปแบบการขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียว เป็นการนำเสนอสินค้าหรือบริการต่างๆบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมนวัตกรรมการบริการที่ล้ำสมัยจะทำให้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างขวางมากขึ้น


Digital Disruption มีอะไรบ้าง

ผู้อ่านคงพอเข้าใจแล้วว่า Digital disruption คืออะไร ในบทนี้เราจะพาผู้อ่านมาดูกันว่าองค์ประกอบของ Digital disruption มีอะไรบ้าง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ได้ถูกพัฒนาเพื่อความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตและการดำเนินการทางธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ก็ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและการเปลี่ยนแปลง เช่น การสื่อสารผ่านการส่งจดหมายก็พัฒนาเป็นการส่ง email หรือ TV Streaming ที่เข้ามาแทนโทรทัศน์ในอดีต ซึ่ง Digital disruption มีดังนี้


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลต่อ Digital disruption อย่างมาก เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานแบบซ้ำๆ ให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยสามารถใช้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือคิดค้นการบริการรูปแบบใหม่ในระยะเวลาอันสั้น ช่วยตัดสินใจ (Deep learning) ให้กับการทำธุรกิจ และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้ทุกภาคส่วนของสังคม และองค์กรควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง  เรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้งาน AI อย่างยืดหยุ่นและเปิดรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น

การเชื่อมต่อถึงเทคโนโลยีอย่างง่ายดาย

การเข้าถึงเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนเหมือนในอดีต เนื่องจากมีการพัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัล และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันให้เข้าถึงได้ง่ายกับทุกอุปกรณ์ ส่งผลให้ผู้คนสามารถใช้งานเทคโนโลยีได้สะดวกสบายมากขึ้น อาทิ การทำธุรกิจผ่านโซเชียลที่เน้นการเชื่อมโยงกับลูกค้า มอบบริการที่ครบจบอย่างไร้รอยต่อ

การปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ใช้ระบบอัตโนมัติในการโต้ตอบกับลูกค้า จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับการแทรกแซงทางเทคโนโลยที่เกิดขึ้นได้

ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

พฤติกรรมผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนไปนิยมใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยใช้ค้นหาข้อมูลสินค้า, บริการ และข้อมูลอื่นๆ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเปรียบเทียบและหาแบรนด์ที่ตอบโจทย์มากที่สุด โดยปัจจุบันผู้บริโภคจะนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ที่ สะดวกและรวดเร็ว เช่นการสั่งอาหารออนไลน์ การจองตั๋วเครื่องบินหรือที่พักออนไลน์ที่ไม่ยุ่งยาก ผลการสำรวจจาก Qualtrics เปิดเผยว่า แนวโน้มผู้บริโภคชาวไทยในปี 2567 ได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการในรูปแบบออนไลน์ถึง 52% รองลงมาจากคุณภาพของสินค้าและบริการ 58% ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ผู้ประกอบการควรพัฒนาการให้บริการในโลกดิจิทัลที่มีระดับ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย



Digital Disruption ผลกระทบที่มีต่อกับภาคธุรกิจ

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและต่อเนื่องทางเทคโนโลยีดิจิทัลย่อมมีผลกระทบ เนื่องจากเราไม่สามารถป้องกันการเกิดขึ้นของ Digital Disruption ได้ แต่สิ่งที่องค์กรทำได้คือเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในปะจจุบันและในอนาคต ซึ่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมีดังนี้

การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น

Digital disruption ทำให้การดำเนินธุรกิจด้วยดิจิทัลไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ส่งผลให้มีธุรกิจรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยผู้ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งอาจมีความสามารถด้านดิจิทัลที่เหนือระดับ ทำให้บางองค์กรอาจเสียลูกค้าบางส่วนไป เช่น การบริการ rider ที่มีคู่แข่งจากหลากหลายแบรนด์

โอกาสในการปรับปรุงธุรกิจ

Digital disruption ไม่ได้สร้างความท้าทายเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างโอกาสในการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงองค์กร โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน เพราะเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยคิดค้นนวัตกรรมรูปแบบใหม่แก่องค์กรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีความแตกต่าง เพื่อตอบสนองเทรนด์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

ความปลอดภัยของข้อมูล

เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ทางแพลตฟอร์มออนไลน์อาจทำให้ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้าอาจถูกเปิดเผย ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว และในด้านของความปลอดภัยทางไซเบอร์ การโจมตีทางไซเบอร์การแฮกข้อมูล หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์


วิธีรับมือ Digital disruption

มาถึงบทนี้ผู้อ่านคงเห็นภาพแล้วว่า Digital disruption คืออะไร องค์ประกอบของ Digital disruption มีอะไรบ้าง และผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างไร โดยในบทนี้เราจะแนะนำวิธีรับมือ Digital disruption

หนทางความสำเร็จในยุคดิจิทัลสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อธุรกิจมีการปรับตัวและดึงประโยชน์จากเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวรับมือด้วยวิธีการ ดังนี้

อัพเดทเทคโนโลยีเพื่อการทำงานที่ล้ำสมัย

ธุรกิจต้องมีการปรับตัวโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร โดยจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร มองหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ใช้งานสะดวกสบายและเข้าถึงได้อย่างเป็นระบบ เช่น AI, Cloud, Big Data, Robotics, Machine Learning เป็นตต้น การยอมรับนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้งาน จะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

มีวิสัยทัศน์ที่ยืดหยุ่น

ผู้นำองค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีและเปิดกว้าง อย่าประมาทในทุกก้าว เพราะต่อให้เป็นองค์กรใหญ่ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่แพ้องค์กรขนาดเล็กที่มีวิสัยทัศน์ที่ยืดหยุ่และปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ดีกว่า การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันมักให้ความสำคัญความเร็ว หากเมื่อผู้ประกอบการไม่เปิดกว้างก็ย่อมพัฒนาได้ช้ากว่าธุรกิจคู่แข่ง

ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า

ผู้ประต้องปรับตัวตามผู้บริโภคมากขึ้น เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนทำให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปการรับข่าวสารและสืบหาข้อมูลก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น บริษัทจึงควรคิดค้นการโปรโมทรูปแบบที่ทันสมัยเพื่อให้บริการที่สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแก่ลูกค้า

ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนองค์กร

ข้อมูลคือสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรเพื่อใช้พัฒนากลยุทธ์และการดำเนินงานขององค์กร บริษัทควรเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจถึงความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการใช้ข้อมูลที่ได้จากพฤติกรรมของลูกค้าและข้อมูลธุรกิจของคู่แข่งทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและสร้างกลยุทธ์ใหม่สอดรับกับเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม


Digital Disruption ตัวอย่างธุรกิจ

การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยความรวดเร็วก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่มากมาย เนื่องจากวิถีชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรับมือกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น ในบทนี้เราจะขอพาผู้อ่านมายกระดับธุรกิจผ่านการศึกษาโมเดลแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจาก Digital disruption ดังนี้

Subscription Model

รูปแบบการสมัครสมาชิก Subscription Model คือ การเข้าถึงสินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นรายวัน รายเดือน หรือรายปี ปัจจุบันการขายรูปแบบการเป็นสมาชิกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่น Netflix และ Disney+ ช่องทางการเข้าชมคอนเทนต์แบบจุใจ โดยลูกค้าจะสามารถเลือกระยะเวลาการเป็นสมาชิกได้ตามความสะดวก อีกทั้งทางแบรนด์ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกได้ โดยการเรียนรู้พฤติกรรมการรับชมเพื่อนำมาวิเคราะห์ในการปล่อยผลงานถัดไป ซึ่งข้อดีของโมเดลธุรกิจนี้คือลูกค้าจะไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อคอนเทนต์ใหม่ๆ ในราคาแรง แต่สามารถสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับบริการแบบราคาพิเศษ

 Freemium Model

รูปแบบการขายสินค้าหรือบริการ Freemium Model เป็นการให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จำกัดเนื้อหาบางส่วน โดยจะมีการเก็บเงินก็ต่อเมื่อลูกค้าต้องการใช้งานที่มากขึ้น ซึ่งข้อดีของการใช้บริการฟรี คือได้เรียนรู้ประสิทธิภาพก่อนการใช้งานจริง เหมือนเป็นการทดลองใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนข้อเสียคือจะมีโฆษณาและคุณภาพจะไม่ดีเท่ากับการเสียเงิน เพราะถ้าอยากใช้งานที่มีคุณภาพหรือไม่มีโฆษณามากวนใจ ลูกค้าก็ต้องจ่ายเงินเพื่อรับบริการ เช่น แพลตฟอร์ฟังเพลงอย่าง Spotify หรือ Joox

Marketplace Model

รูปแบบสถานที่ขายของ Marketplace Model เป็นการจัดตั้งตลาดออนไลน์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำให้การซื้อขายสินค้าและบริการนั้นไม่ยากเหมือนแต่ก่อน เป็นจุดที่สามารถทำให้คนซื้อและคนขายมาเจอกัน และทำข้อตกลง ซึ่งรูปแบบตลาดออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมอยู่ทั่วโลก เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวกสบาย ง่ายต่อการจับจ่าย และรวดเร็ว เช่น eBay, Amazon, Lazada

Access-over-Ownership Model

รูปแบบการเข้าถึงผู้ให้บริการ The Access-over-Ownership Model เป็นรูปแบบธุรกิจที่จะเป็นตัวกลางนำพาผู้บริโภคเข้าถึง สินค้าและบริการของแบรนด์ต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ AirBnB, FavStay โดยจะจัดหาที่พักที่ตรงกับความต้องการให้ แล้วส่งถึงมือผู้ใช้บริการโดยตรง โดยทางแบรนด์จะสามารถเก็บรายได้จากค่าบริการ (commission)

Hypermarket Model

รูปแบบอำนาจทางการตลาดขนาดใหญ่ Hypermarket Model ไม่ได้หมายถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ อย่าง Tesco Lotus หรือ Big C แต่เป็นตลาดที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยจะอยู่ในรูปแบบของตลาดออนไลน์ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายและมีความน่าสนใจ ซึ่งข้อดีคือลูกค้าจะสามารถซื้อของทุกอย่างที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันได้ในที่เดียว (one-stop shop) อีกทั้งจะนำเสนอสินค้าในอัตรที่ถูกกว่าปกติ ทำให้บางครั้งซื้อของใน Amazon, lazada จึงมีราคาถูกกว่าตลาดทั่วไป เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้อย่างประทับใจ

On-Demand Model

รูปแบบบริการตามความต้องการ The On-Demand Model เป็นการให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าหรือบริการตามความต้องการ เหมาะสำหรับการบริการลูกค้าที่ไม่มีเวลาแต่มีความต้องการที่จะซื้อสินค้าหรือบริการ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการธุระที่ลูกค้าต้องการ เพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาแก่ลูกค้า ยกตัวอย่างช่องทางที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ Uber หรือ Line Man เป็นต้น


สรุป

Digital disruption คือการแทรกแซงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น AI, Cloudหรือ Robotics ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำให้บางธุรกิจที่ยังไม่ปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินงานขององค์กร อาจถูกแทนที่ด้วยแบรนด์ใหม่ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้อย่างล้ำสมัย ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็สามารถมอบโอกาสแก่บริษัทได้เช่นกัน หากมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรับมือได้อย่างมีกลยุทธ์ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรต้องตระหนักคือ การยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

 

bottom of page