Content Pillar กลยุทธ์เนื้อหาการสร้างแบรนด์และธุรกิจให้สำเร็จ
ในปัจจุบันการดำเนินการสิ่งต่างๆ บนโลกออนไลน์สะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช็อปปิ้ง การศึกษา การประชุม การติดต่อสื่อสาร และโดยเฉพาะการตลาด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เหล่านักธุรกิจและผู้ประกอบการสามารถก้าวทันโลกธุรกิจในยุคใหม่ เราจึงต้องมีกลยุทธ์ทางด้านเนื้อหาที่ดี มีการวางแผน และจัดระเบียบทางเนื้อหาที่จะช่วยกำหนดเส้นทางแห่งความสำเร็จทางธุรกิจ ด้วย content pillar เสาหลักเนื้อหาที่ครอบคลุมข้อมูลของแบรนด์ได้อย่างครบถ้วน ในบทความนี้เราจะขอพาผู้อ่านไปรู้จักว่า content pillar คืออะไร ขั้นตอนการทำเป็นอย่างไร มีประโยชน์ในด้านใด และรวมไปถึง Content pillar ตัวอย่างจากแบรนด์ชื่อดัง
Content pillar คืออะไร?
Content pillar คือ คำที่ประกอบมาจากสองคำได้แก่ content เนื้อหา + pillar ที่แปลว่า เสา เมื่อนำมารวมเข้าด้วยกันนั่นก็คือ เสาหลักเนื้อหาโครงสร้างการตลาดในยุคดิจิทัล เป็นกระบวนการวางแผนให้คอนเทนต์มีความเชื่อมโยงต่อเนื่อง และทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ เป็นตัวช่วยในการชี้นำแนวทางการสร้างเนื้อหา หรือว่าง่ายๆ
Content pillar คือ การวางเสาเนื้อหาหลักของแบรนด์ที่องค์กรอยากจะสื่อออกไปเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้สนใจและติดใจจนกลับมาติดตามดูอีกซ้ำๆ เสาหลักด้านเนื้อหานี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญต่อองค์กร ให้ผู้อ่านลองจินตนาการดูว่า การที่เราจะมีบ้านที่แข็งแรง เราก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มจากการสร้างเสาหลักของบ้านให้มีความแข็งแรง จริงไหม?
ประเภทของ content pillar มีอะไรบ้าง?
ประเภทของเนื้อหาที่หลากหลายสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้แตกต่างกัน เป็นรูปแบบเนื้อหาที่ปรากฏให้เห็นบนแพลตฟอร์มต่างๆ ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้เป็นประเภทเนื้อหาหลักๆ ที่คุณสามารถใช้เพื่อความบันเทิงหรือส่งมอบข้อมูลของบริษัทให้กลุ่มเป้าหมายได้รับชม ประกอบด้วย
Infographics
อินโฟกราฟิก มาจากคำว่า Information (ข้อมูล) + Graphic (รูป) เป็นกราฟิกดิจิทัลที่แสดงข้อมูล เล่าเรื่องรายละเอียด ตัวเลข ข่าวสารเกี่ยวกับแบรนด์ผ่านรูปภาพที่มีลูกเล่น มีสีสัน และเป็นการออกแบบที่บ่งบอกถึง แบรนด์ โดยมักจะเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ เพื่อให้ข้อมูลของเรานั้นเข้าใจง่ายและสามารถจดจำภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
Video
วิดีโอเป็นรูปแบบเนื้อหาที่สามารถนำเสนอข้อความในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวให้แก่แบรนด์ของคุณได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบดูการสาธิตเพื่อทำความเข้าใจเนื้อในหัวข้อนั้น ตัวอย่างเช่น วิดีโอโปรโมตแบรนด์สินค้าสามารถแสดงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์และรวมถึงการบอกเล่าถึงที่มาที่ไป จุดเริ่มต้น และการผลิตของสินค้าที่จะสามารถสร้างอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายได้
Podcast
พอดแคสต์ เป็นรูปแบบเนื้อหาแบบข้อความเสียงคล้ายกับรายการวิทยุ โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ผู้ฟังสามารถเลือกฟังในหัวข้อที่สนใจในและเลือกฟังเวลาไหนก็ได้ เช่นช่องทาง YouTube และ TikTok ซึ่งมักจะเป็นการเล่าเรื่องราวในหัวข้อต่างๆ บางรายการอาจจะมีพิธีกรหลัก และมีแขกรับเชิญมาร่วมให้สัมภาษณ์เพื่อมอบความรู้และให้ความบันเทิง ทำให้ผู้ฟังเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย และได้ความรู้ในเวลาเวลาเดียวกันแบบไม่รู้ตัว ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายอยากฟังรายการพอดแคสต์จากธุรกิจนี้อีกเรื่อยไป
Blog post
บล็อกโพสต์ คือเว็บไซต์รูปแบบหนึ่ง ที่อธิบายหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ในรูปแบบยาวๆ หรือจะเป็นแบบสั้นก็ได้ มีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายกับการเขียนไดอารี่ หรือ บทความให้ความรู้ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมานานแล้ว สามารถใช้ในการโปรโมทธุรกิจ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ความรู้ หรือสิ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญ เพื่อแบ่งปันข้อมูลให้กับกลุ่มเป้าหมาย และยังสามารถช่วยปลูกฝังภาพจำของแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ได้อีกด้วย
ขั้นตอนการสร้าง Content pillar
หลังจากผู้อ่านได้ทำความเข้าใจแล้วว่า content pillar คืออะไร มีประเภทใดบ้าง ในบทนี้เราขอพาผู้อ่านมาดูขั้นตอนการสร้าง content pillar กัน
Content pillar ที่ทรงพลังจำเป็นต้องมีการกำหนดแผนการไว้อย่างชัดเจน มีการกำหนดประเภทของเนื้อหาที่จะสร้างขึ้น โดยกลยุทธ์นี้จะทำหน้าที่เป็นแผนการสร้างและเผยแพร่เนื้อหา เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาที่จะสื่อไปของ แบรนด์ยังคงสอดคล้องและมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยขั้นตอนการสร้าง content pillar ประกอบไปด้วย 6 วิธีดังนี้
1. กำหนดเป้าหมายธุรกิจ
สิ่งที่แบรนด์ต้องลงมือทำเป็นอันดับแรกก็คือการกำหนดเป้าหมายของแบรนด์ กำหนดว่าการที่เราลงคอนเทนต์นี้เราต้องบรรลุเป้าหมายอะไร อาทิ ต้องการโปรโมทสินค้า ต้องการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก หรือทำให้แบรนด์สนิทสนมใกล้ชิดกับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
2. วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
เมื่อมีเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว ก่อนที่จะเริ่มการสร้าง content pillar บนโซเชียลมีเดีย เราต้องรู้จักลูกค้าของเรา องค์กรต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายโดยละเอียด ทั้งอายุ ความสนใจ และพฤติกรรม เจาะลึกว่าคอนเทนต์เนื้อหาแบบไหนที่จะโดนใจผู้ชม และประเมิณว่าเขาจะได้อะไรจากคอนเทนต์นั้นๆ ขั้นตอนนี้ช่วยทำให้แบรนด์ต่างๆ สามารถปรับแต่งเนื้อหาที่จะสื่อออกไปให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้
3. วิเคราะห์คู่แข่ง
การก้าวนำในโลกแห่งดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์คู่แข่งอย่างละเอียด โดยวิเคราะห์จากประเภทเนื้อหาที่คู่แข่งมี ให้ลองสังเกตุว่าคอนเทนต์แบบใดของคู่แข่งที่ได้รับความสนใจและโดนใจผู้ชม การวิจัยนี้จะสามารถมอบข้อมูลเชิงลึกด้านเนื้อหา เพื่อนำมาปรับแต่งกลยุทธ์คอนเทนต์หลักของแบรนด์ในขั้นถัดไปได้
4. ปรับแต่งกลยุทธ์
ขั้นถัดมา หลังจากกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและคู่แข่งเรียบร้อยแล้ว ถัดมาแบรนด์ต้องจัดแต่งกลยุทธ์เนื้อหาให้สอดคล้องเข้ากับเป้าหมายและความต้องการของลูกค้า เพื่อเพิ่มความสำเร็จทางผลลัพธ์ เช่นแบรนด์อาหารที่ตอนนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แบรนด์ก็ต้องหันมานำเสนอคอนเทนต์แนวทางที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น การบูรณาการนี้จะช่วยทำให้ข้อความสามารถส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทรงพลังมากยิ่งขึ้น
5. เช็คเทรนด์ของอุตสาหกรรม
การสำรวจเทรนด์แนวโน้ม และทำความเข้าใจคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นใหม่ในอุตสาหกรรม เป็นวิธีที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยต้องคอยจับตาดูแนวโน้มของอุตสาหกรรมและกลยุทธ์การตลาดผ่านเนื้อหาในแต่ละแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งแบรนด์คุณสามารถอัพเดทได้สด ใหม่ พร้อมกับความรวดเร็วในการเผยแพร่ ก็ยิ่งสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น นับเป็นการติดตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที โดยคุณสามารถติดตามได้จาก
เทรนด์โซเชียลมีเดียที่ร้อนแรง
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียคือช่องทางที่มีการพัฒนาและอัพเดทอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดพัก โดยเป็นการนำเสนอฟีเจอร์และเทรนด์ข่าวใหม่ๆ การค้นคว้าแนวโน้มของโซเชียลมีเดียสามารถช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ปรับ content pillar ของตนให้ตามทันความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วม เทรนด์ล่าสุดเพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้า เช่น เทรนด์ การประยุกต์ใช้ AI เพื่อการทำธุรกิจกำลังมาแรง คุณก็อาจให้เคล็ดลับ ความรู้เล็กๆ น้อยๆ ด้าน AI ควบคู่กับการสอดแทรกข้อมูลของแบรนด์ เป็นต้น
แฮชแท็ก#
แฮชแท็กเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการค้นพบเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย การค้นคว้าเทรนด์ผ่านแฮชแท็กนับเป็นช่องทางที่รวดเร็วในการอัพเดทสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อและผู้ขาย ในขณะเดียวกัน ผู้ขายก็สามารถกำหนดแฮชแท็กที่โดดเด่นให้กับแต่ละคอนเทนต์ เพื่อเพิ่มการมองเห็นของแบรนด์และดึงดูดผู้ชมในวงกว้าง การใช้แฮชแท็กอย่างมีกลยุทธ์ยังสามารถเชื่อมโยงแบรนด์กับชุมชนเฉพาะกลุ่มและการสนทนาที่เกี่ยวข้องกับธีมเนื้อหาของแบรนด์ได้
6. เลือกรูปแบบคอนเทนต์และโพสต์ลงแพลตฟอร์มที่เหมาะสม
เมื่อเราได้เนื้อหาคอนเทนต์ที่ต้องการเผยแพร่เรียบร้อยแล้ว เราต้องมาเลือกรูปแบบเนื้อหาและช่องทางที่เหมาะสมกับการเผยแพร่เนื้อหาของเรา เช่น บล็อกเพื่อการถ่ายทอดความรู้เราก็ต้องโพสต์ลงเว็บไซต์บริษัท และอาจมีการ โปรโมทผ่าน Facebook หรือ Instagram ด้วยข้อความที่สำคัญแบบพารากราฟสั้นๆ เพื่อดึงดูดผู้ชมได้ในทุกๆ แพลตฟอร์ม หรือหากเป็นวิดีโอ ก็อาจเลือกเป็น TikTok และติดแฮชแท็กเพื่อเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ การเลือกลงคอนเทนต์ในช่องทางที่เหมาะสมกับเนื้อหาจะช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้ตรงจุดมากขึ้น
ประโยชน์ของ content pillar มีอะไรบ้าง
ตอนนี้ผู้อ่านน่าจะเห็นภาพแล้วว่า content pillar คืออะไร มีประเภทใดบ้าง และมีขั้นตอนอย่างไร ในบทนี้เราจะขอนำผู้อ่านมาเจาะลึกถึงประโยชน์ content pillar ว่ามีดีอย่างไรต่อแบรนด์ของเราบ้าง
Content pillar จะช่วยเรียบเรียงให้ธีมหรือแนวคิดครอบคลุมคอนเทนต์ที่แบรนด์ต้องการแบ่งปัน ช่วยให้คุณเลือกหัวข้อที่คุณต้องการสื่อสาร และช่วยทำให้แน่ใจว่าเนื้อหาแบบใดจะเป็นประโยชน์และน่าสนใจสำหรับผู้ชม อีกทั้งทำให้การเข้าถึงเว็บไซต์บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประโยชน์หลักๆสำหรับ content pillar มีดังต่อไปนี้
แบรนด์เป็นที่รู้จักและน่าชื่อถือ
Content pillar คือเครื่องมือที่ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการแชร์ การถูกใจ และการแสดงความคิดเห็นในคอนเทนต์ที่โดนใจผู้ชม ซึ่งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างผู้ขายกับลูกค้า ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากจะทำให้แบรนด์เป็นที่รับรู้นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่มากขึ้น
การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น
Content pillar ช่วยให้สามารถปรับแต่ง และวางแผนการผลิตเนื้อหาที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น จากการที่เราเข้าใจและปรับคอนเทนต์ให้เหมาะกับความต้องการของพวกเขา จะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากกลุ่มเป้าหมาย ลองคิดดูว่าเว็บไซต์ที่มีข้อความ ระหว่างหัวข้อ “รวมเมนูอาหารเพื่อโลกเพื่อเรา” กับ เว็บไซต์ที่เขียนเพียงว่า “อาหารที่ดี!” แน่นอนว่าแบบแรกจะทำให้ผู้ชมประทับใจและเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์มากกว่าแบบที่สอง
การสร้างสรรค์ keyword ที่ดีขึ้น
Content pillar ช่วยให้เข้าถึง keyword ได้ดีขึ้น หลังจากที่บริษัทได้เข้าใจเนื้อหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ธุรกิจจะสามารถระบุหัวข้อหลักที่มีความสำคัญต่อธุรกิจได้ ซึ่งมักจะเป็นคำค้นหา หรือ keyword ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจด้านการออกแบบ ก็จะมี keyword ที่เกี่ยวข้องเป็น เทรนด์การออกแบบ ประเภทการออกแบบ การออกแบบฉบับง่าย หรือเทคนิคการออกแบบ ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สนใจใน keyword ที่เฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น ในขณะที่ยังคงยึดธีมโดยรวมของแบรนด์ได้
SEO ที่ดีขึ้นบน Google
Content pillar จะช่วยจัดอันดับเว็บไซต์ที่ดีขึ้นบน Google (Search Engine Optimization) เนื่องจาก Google มักจะจัดอันดับเว็บไซต์เนื้อหาที่มีการจัดระเบียบที่ดีซึ่งสร้างขึ้นจาก keyword มีกลยุทธ์การเชื่อมโยงเนื้อหาที่เหมาะสม และมีเนื้อหาที่น่าเชื่อถือจากลิงก์ภายนอกและภายในรอบเว็บไซต์ ทำให้ Google สามารถประเมิณได้ว่าเว็บไซต์ของคุณได้รับความไว้วางใจและและจัดอันดับเว็บไซต์ของคุณให้สูงขึ้นในผลการค้นหา
Content pillar ตัวอย่างจากแบรนด์ดัง
มาถึงหัวข้อนี้ ผู้อ่านน่าจะรู้แล้วว่า content pillar คือ กลยุทธ์ที่จะมาช่วยกำหนดคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพ ในหลากหลายรูปแบบ ที่มีขั้นตอนไม่มากนัก แต่มีประโยชน์ที่หลากหลาย ในหัวข้อนี้เราจะพาผู้อ่านมาลงลึกถึง content pillar ตัวอย่างจากแบรนด์ McDonald’s
McDonald’s หรือ แมคโดนัลด์ แบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขากระจายอยู่มากมายทั่วโลก เป็นแบรนด์ที่มีความหลากหลายที่ไม่ได้ขายเพียงแค่ แฮมเบอร์เกอร์เท่านั้น แต่ยังมีอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภท เช่น ไอติม มันฝรั่งทอด ไก่ทอด หรือพาย โดยการใช้กลยุทธ์ content pillar ตัวอย่างจากแมคโดนัลด์นั้นเริ่มจาก
ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย
องค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์คอนเทนต์ของ McDonald คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย โดยแมคโดนัลด์ดำเนินการวิจัยทางการตลาด เพื่อประเมิณความชอบ ความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อผลิตเนื้อหาอย่างมีคุณค่าที่ตรงใจ และตอบสนองความต้องการของพวกเขา ตัวอย่างเช่น แมคโดนัลด์วิเคราะห์แล้วว่าครอบครัวที่มีลูกคือกลุ่มเป้าหมายหลักของพวกเขา เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มนี้ แมคโดนัลด์จึงสร้างเนื้อหาที่เน้นประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับครอบครัว เช่น โฆษณาที่มีครอบครัวสุขสันต์กำลังเพลิดเพลินกับมื้ออาหารด้วยกัน
ใช้ประโยชน์จากเทรนด์และช่วงเวลาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
กลยุทธ์เนื้อหาของ McDonald เน้นใช้ประโยชน์จากวันสำคัญทางวัฒนธรรมและสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เพื่อรักษาความเกี่ยวข้องและดึงดูดผู้บริโภค โดยบริษัทแมคจะคอยติดตามแนวโน้มทางสังคม วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมของแบรนด์อย่างใกล้ชิด โดยปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก ตัวอย่างเช่น ในระหว่างการแข่งขันกีฬาสำคัญๆ อาทิ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลก McDonald's ก็มักจะจัดแคมเปญโฆษณาที่เชื่อมโยงกับความตื่นเต้นของกิจกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่สำคัญทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ส่งผลให้ McDonald's สามารถเข้าถึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้
เล่าเรื่องที่เชื่อมโยงทางอารมณ์ทำให้ผู้ชมใจฟู
ถัดมา กลยุทธ์เนื้อหาของ McDonald มุ่งเน้นไปที่การเล่าเรื่องและสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้ชม บริษัทเข้าใจดีว่าการเล่าเรื่องเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดลูกค้าและสามารถสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน โดยคอนเทนต์ของแมคโดนัลด์มักบอกเล่าเรื่องราวที่กระตุ้นอารมณ์ เช่น ความสุข ความคิดถึง หรือแรงบันดาลใจ ยกตัวอย่างเช่น McDonald's มีเรื่องราวอันอบอุ่นใจของพนักงานและลูกค้าที่เคยมีประสบการณ์ในร้านอาหารของตน การนำเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นคอนเทนต์ทำให้แบรนด์มีความผูกพันทางอารมณ์กับผู้ชมได้มากขึ้น
เผยแพร่แบบมัลติมีเดีย
ในขั้นตอนสุดท้าย การเผยแพร่คอนเทนต์ McDonald's เลือกใช้วิธีการมัลติมีเดีย โดยใช้ประโยชน์จากรูปแบบต่างๆ ของคอนเทนต์ เพื่อสื่อสารข้อความอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทมักสร้างเนื้อหาในรูปแบบของวิดีโอ รูปภาพ บล็อก และโพสต์โซเชียลมีเดีย เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันและดึงดูดลูกค้าในหลายช่องทาง ตัวอย่างเช่น McDonald's สร้างวิดีโอที่แสดงรายการเมนูใหม่ๆ และภาพเบื้องหลังในห้องครัว ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกอินไปกับแบรนด์ได้ อีกทั้งใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่ ช่วยให้คอนเทนต์ของแบรนด์มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ และดึงดูดผู้ชมได้เป็นวงกว้าง
สรุป
Content pillar คือ กุญแจการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านเนื้อหาที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถผลิตคอนเทนต์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คอนเทนต์ของแบรนด์มีแบบแผน ครอบคลุมในรูปแบบที่เหมาะสม สามารถสื่อสารหัวใจหลักของแบรนด์ได้อย่างตรงไปตรงมาและเข้ากับความต้องการของลูกค้า ทำให้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้พวกเขากลับมาติดตามเนื้อหาของเราอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การทำกำไรของบริษัทอย่างยั่งยืน จัดได้ว่าเป็นเคล็ดลับในการก้าวนำในโลกธุรกิจออนไลน์ที่ทรงพลัง
ที่มา: