top of page

อิทธิพลของแพลตฟอร์มดิจิทัล สื่อกลางที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแล The Influence of Digital Platforms and Why They Need to be Regulated



ในภูมิทัศน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของยุคดิจิทัลนั้น การขยายตัวของแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ถือเป็นการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม Social Media ไปจนถึง E-marketplace นั้นได้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจของเราทุกคนไปอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นก็ยังสร้างความท้าทายและความเสี่ยงที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญและคอยกำกับดูแล


แพลตฟอร์มดิจิทัลคืออะไร ?


จาก ETDA ได้กล่าวคำนิยามไว้ว่า แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) คือพื้นที่หรือโครงสร้างพื้นฐานในระบบดิจิทัล หรือบริการที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้บุคคล 2 ฝ่ายขึ้นไป อาทิ ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้บริโภค และผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้มาทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนหลาย ๆ กลุ่มโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออาจกล่าวได้ว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นเป็นเสมือนพื้นที่ที่รวบรวมสินค้า บริการ และข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในที่เดียว และยังเป็นตัวกลางที่ช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์หรือตอบโต้กันระหว่างผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ นั่นเอง


โดยปัจจุบันบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความหลากหลายอย่างมาก ขึ้นกับวัตถุประสงค์หรือการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันออกไป โดยในหนึ่งแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นอาจมีการให้บริการได้หลายประเภทได้ ทั้งนี้ ตัวอย่างประเภทของแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้แก่

  1. บริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) อาทิ Shopee, Lazada, Agoda

  2. บริการ Sharing Economy Platform อาทิ Grab, LINE MAN, Robinhood

  3. บริการการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) อาทิ Line, Whatsapp, Messenger, Zoom, Microsoft Teams

  4. บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อาทิ Facebook, Instagram, Twitter

  5. บริการโฆษณาออนไลน์ (Advertising Service) อาทิ Google Ads, Facebook Ads

  6. บริการสื่อโสตทัศน์ วีดีโอและเพลง (Audio-Visual, Video on demand, Video Sharing and Music Sharing) อาทิ YouTube, TikTok, Spotify, Netflix, AIS play

  7. บริการสืบค้น (Searching Tools) อาทิ Google, Yahoo!, Tripadviser

  8. บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) อาทิ Google News, Apple News, SmartNews

  9. บริการแผนที่ออนไลน์ (Maps) อาทิ Google Map, Apple Maps, HERE WeGo

  10. บริการผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistants) อาทิ Siri, Alexa

  11. บริการเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browsers) อาทิ Google Chrome, Microsoft Edge, Safari

  12. บริการระบบปฏิบัติการ (Operating System) อาทิ Microsoft Windows, Android, iOS

  13. บริการโฮสต์ (Hosting Service) หรือให้บริการเช่าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเว็บไซต์ต่าง ๆ อาทิ GoDaddy, Hostinger

  14. บริการคลาวด์ (Cloud Service) อาทิ Google Cloud, Microsoft Azure, AWS และ 15) บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) อาทิ AWN, TRUE, NT



อิทธิพลของแพลตฟอร์มดิจิทัล


ทุกวันนี้แพลตฟอร์มดิจิทัลได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เราได้พบเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นตัวเร่งที่ทำให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการติดต่อสื่อสาร การเดินทาง การทำงาน การสั่งอาหาร การจ่ายเงิน การซื้อสินค้าหรือบริการ การดูหนังหรือฟังเพลง หรือการเสพสื่อและข่าวสาร จึงส่งผลให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างของผู้บริโภค อาทิ การเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ นั้นเกิดขึ้นผ่านข้อมูลที่ได้รับจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เป็นหลัก


และด้วยพฤติกรรมของฝั่งผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เอง ก็ส่งผลให้ในฝั่งของภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการเองต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับผู้บริโภคและเข้ากับยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น อาทิ จากการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากขึ้น สามารถรู้จักกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น และนำไปสู่การที่สามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลยังก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก


ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัล อาทิ เดียวกับสถานการณ์ของโลก โดยประชากรไทยมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างแพร่หลาย ซึ่งหากมาพิจารณาดูข้อมูลสถิติที่เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทย จากรายงาน Thailand Digital Stat Insight 2023 ของ Datareportal พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตกว่า 61.2 ล้านผู้ใช้งาน หรือคิดเป็นกว่า 85% ของประชากร โดยคนไทยใช้เวลาอินเทอร์เน็ตต่อวันกว่า 8 ชั่วโมง 6 นาที ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อวัตถุประสงค์ในการหาข้อมูลมากเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือเพื่อติดต่ออัพเดทข่าวสารต่าง ๆ และอันดับสามคือเพื่อรับชมวิดีโอหรือภาพยนตร์ จึงส่งผลให้เว็บไซต์ที่คนไทยมีการเข้าเยี่ยมชมมากที่สุด ได้แก่ เว็บไซต์ Google ที่มีการเข้าเยี่ยมชมเฉลี่ยกว่า 899 ล้านครั้งต่อเดือน และรองลงมาคือเว็บไซต์ Youtube และ Facebook ที่มีการเข้าเยี่ยมชมเฉลี่ยกว่า 502 ล้านครั้งต่อเดือน และ 415 ล้านครั้งต่อเดือน ตามลำดับ นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Datareportal พบว่ายอดการเข้าถึงโฆษณาบน Facebook ที่เป็นไปได้ (Potential Reach of Ads on Facebook) มีมากถึง 48.1 ล้านผู้ใช้งาน (67% ของประชากร) และยอดการเข้าถึงโฆษณาบน Youtube ที่เป็นไปได้ (Potential Reach of Ads on Youtube) มี 43.9 ล้านผู้ใช้งาน (61% ของประชากร) ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่สามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคได้เป็นอย่างมาก


และหากพิจารณามูลค่าของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยอ้างอิงจากรายงานสรุปผลการสํารวจและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ในประเทศไทย ที่จัดทำโดยสำนักงาน กสทช. ซึ่งภายในรายงานดังกล่าวได้มีการคาดการณ์มูลค่าของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของกลุ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. 

4 กลุ่มบริการ ได้แก่ บริการสื่อสารโทรคมนาคม บริการแพร่ภาพ บริการแพร่เสียง และบริการสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงกลุ่มบริการที่มีนัยต่อเศรษฐกิจและสังคม 7 กลุ่มบริการ ได้แก่ บริการธนาคารและการเงิน บริการท่องเที่ยว บริการซื้อขายสินค้าและบริการ บริการด้านขนส่ง บริการด้านสาธารณสุข และบริการด้านการศึกษา โดยจากรายงานพบว่ามีการคาดการณ์ว่าใน ปี พ.ศ. 2568 กลุ่มบริการเหล่านี้จะสามารถสร้างมูลค่ารวมถึง 2 แสนล้านบาท โดยกลุ่มบริการที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ กลุ่มบริการธนาคารและการเงินที่มีมูลค่า 5.3 หมื่นล้านบาท และรองลงมาคือบริการซื้อขายสินค้าและบริการ (E-marketplace) ที่มีมูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่ารูปแบบการประกอบธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย




ทั้งนี้ แม้ว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลจะส่งผลให้เกิดข้อดีและประโยชน์มากมาย ทั้งจากการที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน แต่อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจจำนวนมากนั้นก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาและความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งนี้ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นสามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

  • ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล อาทิ การหลอกลวง การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การบิดเบือนข้อมูล การเผยแพร่เนื้อหาหรือสินค้าที่ผิดกฎหมาย การละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือการกำหนดเงื่อนไขการใช้งานที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

  • ปัญหาที่เกิดจากการใช้อำนาจผูกขาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล อาทิ การกีดกันการแข่งขันของผู้ประกอบการรายอื่น หรือการเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตนเอง


ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านการใช้อำนาจผูกขาดจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด (Significant Market Power) ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากที่ผู้ให้บริการเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกแห่งเครือข่าย (Network Effect) ในการดึงดูดผู้บริโภค และธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มของตนได้มากยิ่งขึ้นอีกเรื่อย ๆ เป็นลูกโซ่ (ยกตัวอย่าง Facebook) นอกจากนี้  อาจเกิดจากการที่ผู้ให้บริการรายนั้นมีการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหลากหลายประเภท และมีลักษณะเป็นผู้คุมประตู (Gatekeeper) สู่บริการอื่น ๆ อาทิ การที่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสืบค้น (Search Engines) บริการโฆษณาออนไลน์ (Advertising Service) และบริการเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browsers) (ยกตัวอย่าง Google) จากลักษณะดังกล่าวจึงส่งผลให้ผู้ให้บริการรายนั้นมีอำนาจในการต่อรองกับผู้บริโภคหรือภาคธุรกิจต่าง ๆ สูง รวมถึงถือครองข้อมูลของผู้ใช้บริการจำนวนมาก และสามารถใช้ประโยชน์จาก ความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล (Information Asymmetries) หรือนำข้อมูลของผู้บริโภคไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสินค้าหรือบริการของตนเองได้


การกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในต่างประเทศ 


จากปัญหาและความท้าทายข้างต้น ส่งผลให้ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนจะต้องพึ่งพิงบริการดิจิทัลอย่างปฏิเสธไม่ได้ ยกตัวอย่าง ในสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการออกกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ 1) Digital Services Act (DSA) และ 2) Digital Market Act (DMA) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้

  • เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค (Consumer Protection) จากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล อันจะส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศหรือพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัย มีความโปร่งใส และน่าเชื่อถือ

  • เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ในตลาดที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาคธุรกิจที่ใช้บริการดิจิทัลและผู้ให้บริการดิจิทัล อันจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดโดยรวมของประเทศมีการเติบโต มีการแข่งขันสูง และเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ


ทั้งนี้ ในกฎหมาย Digital Services Act (DSA) และ Digital Market Act (DMA) ของสหภาพยุโรป (EU) มีขอบเขตการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนี้


กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act: DSA) เป็นกฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีหน้าที่ในการรับผิดชอบให้การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างปลอดภัยและโปร่งใส โดยDigital Services Act จะครอบคลุมการกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดังนี้ 1) ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง (Intermediary Services) อาทิ Internet Service Provider 2) ผู้ให้บริการ Hosting Service อาทิ Cloud, Web Hosting  3) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม (Online Platforms) อาทิ Online Marketplace, App Stores, Social Media, Sharing Economy และ 4) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (Very Large Online Platform: VLOPs and Very Large Online Search Engines: VLOSEs) ซึ่งหมายถึงแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 45 ล้านคนในสหภาพยุโรป (10% ของประชากร) โดยความเข้มข้นของข้อบังคับสำหรับผู้ให้บริการแต่ละประเภทหรือแต่ละขนาดจะแตกต่างกันออกไป


โดยตัวอย่างข้อบังคับ (Obligation) ภายใต้กฎหมาย Digital Services Act ได้แก่ การกำหนดว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องมีมาตรการในการจัดการเนื้อหา หรือสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย อาทิ การจัดกระบวนตรวจสอบและกำจัดสิ่งผิดกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และการจัดเตรียมช่องทางให้ผู้ใช้บริการสามารถรายงานหรือแจ้งสิ่งผิดปกติหรือผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวก ตลอดจนการกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องมีการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างโปร่งใส อาทิ ต้องมีการให้ข้อมูลด้านเงื่อนไขการใช้บริการที่ชัดเจนและเป็นธรรม มีการใช้ระบบอัลกอริทึม (Algorithm) สำหรับการแนะนำเนื้อหาหรือโฆษณาสินค้าให้แก่ผู้ใช้บริการอย่างโปร่งใส และการหลีกเลี่ยงการใช้ Dark Pattern ซึ่งคือการออกแบบ Interface ของแพลตฟอร์มโดยมุ่งหวังหรือชักจูงให้ผู้ใช้งานทำในสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ ตลอดจนการกำหนดให้ Very Large Online Platform and Search Engines มีการจัดทำมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อป้องกันการใช้แพลตฟอร์มของตนในทางที่ผิด หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือสร้างความเสียหายต่อสังคม เป็นต้น


และกฎหมายการตลาดดิจิทัล (Digital Market Act: DMA) เป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นผู้คุมประตู (Gatekeeper) หรือผู้ที่มีอำนาจควบคุมการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจในหลากหลายตลาด ซึ่งตามนิยามของสหภาพยุโรป (EU) นั้น Gatekeeper คือผู้ให้บริการที่มีลักษณะ ดังนี้ 1) เป็นผู้ให้บริการที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 2) เป็นตัวกลาง หรือ Gateway ที่เชื่อมโยงผู้บริโภคจำนวนมากกับภาคธุรกิจต่าง ๆ และ 3) เป็นหรือมีแนวโน้มเป็นผู้ให้บริการที่มีการให้บริการมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้  การกำกับดูแลภายใต้ Digital Market Act จะเป็นการกำกับดูแลแบบล่วงหน้า (Ex-ante Regulation) ด้วยการกำหนดข้อบังคับที่ Gatekeeper ต้องปฏิบัติและห้ามปฏิบัติ (Do & Don’t/Obligation & Prohibition) เพื่อป้องกันการชี้อำนาจผูกขาด และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ EU พิจารณากำหนดว่าเป็น Gatekeeper ในปัจจุบัน ได้แก่ 1) Alphabet 2) Amazon 3) Apple 4) ByteDance 5) Meta และ 6) Microsoft ซึ่งมีกิจการครอบคลุมการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหลัก (Core Platform Service) หลากหลายประเภท ทั้ง Online Marketplace, Social media, Online Communication, Advertising Service, Sharing Economy Platform, Audio-Visual and Music Sharing, Searching Tools, Maps, Virtual Assistants, Web Browsers, Operating System, Hosting Service, Cloud Service และ Internet Service Provider


โดยตัวอย่างของข้อกำหนดที่ Gatekeeper ต้องปฏิบัติตาม (Obligation/Do) ภายใต้กฎหมาย Digital Services Act มีดังนี้ การกำหนดว่า Gatekeeper ต้องอนุญาตให้มีบุคคลที่สาม (Third Parties) มีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อให้บริการร่วมกับ Gatekeeper ในบางสถานการณ์ และต้องอนุญาตให้ผู้ใช้งานที่เป็นภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนที่เกิดขึ้นจากการใช้งานบนแพลตฟอร์ม ต้องจัดหาเครื่องมือและข้อมูลที่จำเป็นสำหรับบริษัทโฆษณาบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบโฆษณาของตนเองได้ และตัวอย่างของข้อกำหนดที่ Gatekeeper ห้ามปฏิบัติ (Prohibition/Don’t) มีดังนี้ การกำหนดว่า Gatekeeper ห้ามทำการกีดกันผู้ใช้งานจากการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการธุรกิจอื่น ๆ ภายนอกแพลตฟอร์มของ Gatekeeper และห้ามไม่ให้ Gatekeeper ติดตามผู้ใช้บริการที่อยู่ภายนอกบริการแพลตฟอร์มหลัก (Core Platform Service) ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอม เพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย (Targeted Advertising) ตลอดจนห้าม Gatekeeper เอื้ออำนวยสินค้าหรือบริการของ Gatekeeper เอง อาทิ การจัดลำดับสินค้าของตนเองในตำแหน่งที่ดีกว่าของคู่แข่ง


การกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทย


ปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วยเช่นกัน โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) ได้มีการออก พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากฎหมาย Digital Platform Services (DPS) โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 และจะกำหนดหน้าที่ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องปฏิบัติตาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการกำกับดูแลของกฎหมาย Digital Platform Services ได้แก่

  • บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบุคคลธรรมดา) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในประเทศเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 

  • บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายประเทศเกิน 50 ล้านบาทต่อปี 

  • บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศเกิน 5,000 คนต่อเดือน โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่ ETDA ประกาศกำหนด

ทั้งนี้ หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่กำหนดภายใต้กฎหมาย Digital Platform Services (DPS) จะแตกต่างกันไปตามลักษณะหรือขนาดของแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยตัวอย่างของหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลในกฎหมาย Digital Platform Services มีดังนี้

  • หน้าที่ในการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจที่จำเป็นให้ ETDA ทราบ โดยประกอบด้วยข้อมูล อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน และข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักร  

  • หน้าที่ในการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเกี่ยวกับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจนและเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม อาทิ เงื่อนไขในการให้บริการ ปัจจัยหลักของอัลกอริทึม ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ และการดำเนินการต่อสิ่งผิดกฎหมาย  

  • หน้าที่ในการจัดทำมาตรการการบรรเทาความเสียหายและการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล 

  • หน้าที่ในการประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจัดทำมาตรการการบริหารความเสี่ยง มาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบ และการจัดการภาวะวิกฤต 




 บทสรุป (Summary)


การก้าวเข้ามาของแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นได้ทำให้เราเข้าสู่ยุคแห่งการเชื่อมต่อและความสะดวกสบายที่ไม่เคยมีมาก่อน และแพลตฟอร์มดิจิทัลเองก็ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อคการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มดิจิทัลก็สามารถสร้างอิทธิพลต่อประชาชนและผู้ประกอบการในเชิงลบ อาทิ การหลอกลวง การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการใช้อำนาจผูกขาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ในแต่ละประเทศจึงต้องมีนโยบายหรือการกำกับดูแลที่สมดุลระหว่างการส่งเสริมและควบคุมดูแล เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือพื้นที่ดิจิทัล (Digital Space) ที่มีความปลอดภัย มีระดับการแข่งขันที่เหมาะสม และเหมาะสมต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่


แหล่งอ้างอิง

bottom of page