top of page

แนวโน้มด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับการบูรณาการร่วมกับระบบ National Single Window : NSW



การศึกษาวิเคราะห์สถานภาพการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Trade Facilitation) ของประเทศไทยผ่านระบบ NSW ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้


1. การวิเคราะห์ตามกรอบการพัฒนาสถาปัตยกรรมองค์กรของ TOGAF

โดยครอบคลุมการศึกษาวิเคราะห์ในทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านกระบวนการธุรกิจ 2) ด้านข้อมูล 3) ด้านระบบสารสนเทศ 4) ด้านเทคโนโลยี 5) ด้านความมั่นคงปลอดภัย


2. การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis)
ของการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศผ่านระบบ NSW ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

3. การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (Deep Interview)

หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และการจัดทำแบบสอบถามบุคลากร (Survey) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จากขั้นตอนการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น พบประเด็นปัญหา และอุปสรรค (Pain Point) ในการดำเนินงานของระบบ NSW ได้ 3 ประเด็น ดังนี้


1.) ประเด็นปัญหาด้านกระบวนการภาคธุรกิจ (Business Process) ที่ยังขาดการใช้งานบริการ Single ID สำหรับการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อยื่นขออนุญาต/รับรอง/แจ้งข้อเท็จจริงผ่านทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • ลดระยะเวลาที่ใช้สำหรับการลงทะเบียนซ้ำซ้อน

  • ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมบนหลายระบบของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ยังมีการทำงานผ่านกระดาษ


2.)ประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับ


3.)ประเด็นปัญหาด้านระบบสารสนเทศ (Application)

ที่ยังขาดการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างระบบ NSW เข้ากับระบบสารสนเทศของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการรับส่งข้อมูลการขออนุญาต/รับรอง/แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกระหว่างหน่วยงานอย่างอัตโนมัติ


  • ผู้ประกอบการยังต้องยื่นข้อมูลเอกสารการนำเข้าส่งออกผ่านหลายช่องทาง

  • ขาดระบบการติดตามสถานะการรับ-ส่งข้อมูล/สินค้าบนระบบ NSW แบบ Real-Time ผู้ประกอบการยังต้องล็อคอินเข้าเพื่อดูข้อมูลจากหลายระบบของหลายหน่วยงาน


เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินงานที่ยังเกิดขึ้นกับการให้บริการระบบ NSW ของประเทศไทย พบว่าสามารถนำเสนอภาพ Use Case ซึ่งเป็นหลักการการพัฒนาระบบสำหรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาได้ 2 กรณีศึกษา ดังนี้


กรณีศึกษาที่ 1: ข้อเสนอแนะการปรับปรุงกระบวนการ (Process Improvement) โดยการบูรณาการใช้งานเทคโนโลยี Single ID กับขั้นตอนการลงทะเบียน โดยมีการปรับปรุง เพื่อลดกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้


ในสถานภาพปัจจุบันผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนและทำงานผ่านบนระบบของหน่วยงานต่าง ๆ แยกกัน จำเป็นต้องลงทะเบียนผ่านหลายระบบ ซึ่งทำให้เกิดการกรอกข้อมูลที่ซ้ำไปซ้ำมา ตัวอย่างเช่น


  • การส่งออกข้าวในปัจจุบัน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทะเบียนผ่าน 3 ระบบ และยื่นขอเอกสารอีก 5 ฉบับ โดยประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง้สิน 6 หน่วยงาน

  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Single ID จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงระบบของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แบบไร้รอยต่อ ผ่านการลงทะเบียนที่ระบบเดียว เพื่อรับ Single ID ที่สามารถเข้าใช้งานได้ทุกระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะการปรับปรุงระบบ


  • การบูรณาการขั้นตอนการลงทะเบียนการทำงาน โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Single ID ที่สามารถใช้รหัสผ่านเดียวในการเข้าถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับของหน่วยงานอื่น ๆ ได้

  • การจัดทำระบบการติดตามสถานะการขนส่งสินค้า และสถานะการขอใบอนุญาตรับรองจากหน่วยงานรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแจ้งข้อมูลแก่ผู้ประกอบการผ่านระบบ NSW

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ


  • ลดเวลา: การกรอกข้อมูลของผู้ประกอบการในการลงทะเบียนระบบต่าง ๆ ผ่านการใช้งาน Single Id

  • ลดค่าใช้จ่าย: การทำธุรกรรมการลงทะเบียน ที่เปลี่ยนจากแบบกระดาษมาเป็นแบบออนไลน์ เช่น ค่าธรรมเนียมในการพิมพ์เอกสารคำขอต่าง ๆ


กรณีศึกษาที่ 2: การพัฒนา NSW Platform ในการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากแพลตฟอร์มด้านโลจิสติกส์ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้บริการติดตามสถานะการกำกับตัวสินค้าตลอดจนการติดตามยานพาหนะในการขนส่งสินค้าผ่านระบบ NSW


  • การรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนข้อมูลโรงพักสินค้า และตำแหน่งยานพาหนะ จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลขได้ ณ จุดเดียว ตามสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลตั้งแต่จนจบกระบวนการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ใช้งาน โดยบริการต่าง ๆ ที่หากสามารถรวบรวมมาแสดงผลบน NSW Platform เช่น

    • ข้อมูลขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้าจากกรมศุลกากร

    • ข้อมูลใบรับรองมาตรฐานสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ

    • ข้อมูล Health Certificate จากกรมวิชการเกษตร

    • ข้อมูลสินค้าภายในโรงพักสินค้าจากท่าเรือ

    • ข้อมูลตำแหน่งยานพาหนะจากผู้ให้บริการขนส่งสินค้า


อย่างไรก็ตาม การพัฒนาขีดความสามารถของระบบ NSW ในอนาคต สามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้ด้วยการบูรณาการ แนวโน้มเทคโนโลยีสารสนเทศ (Technology Trend) ที่เหมาะสมเข้ากับการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Cross-Border Trade Facilitation) โดยตัวอย่างการดำเนินงาน ได้แก่


การบูรณาการเทคโนโลยี Cognitive Automation


Cognitive Automation เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจาก 3 ส่วน เพื่อสร้างแนวทางที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงผลลัพธ์ได้ในหลายมุมมอง โดยประกอบด้วยเทคโนโลยี ดังนี้


  • เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

  • แนวทางการบริหารจัดการกระบวนการทางธุรกิจ (Business process management: BPM)

  • เทคโนโลยีการทำงานอัตโนมัติ (Robotic process automation: RPA)


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ


  • การวิเคราะห์และตรวจสอบความถูกต้องข้อมูล

  • การส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้อย่างอัตโนมัติตามความต้องการ หากไม่พบข้อผิดพลาดของข้อมูล

  • การลดความจำเป็นในการป้อนข้อมูลด้วยตนเองและลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดของผู้นำเข้า-ส่งออก

  • การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเปิดเผยรูปแบบ แนวโน้ม และข้อมูลเชิงลึกของข้อมูลการค้าที่สามารถเผยแพร่ได้ตามความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

  • การให้คำแนะนำหรือสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจของผู้นำเข้า-ส่งออก


การบูรณาการเทคโนโลยี IoT (Internet of Thing)


IoT คือ เครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์และระบบของหน่วยงาน ตลอดจนระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง


  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT กับเทคโนโลยี Telematic เพื่อติดตามสถานะการขนส่งสินค้าได้แบบ Real-Time โดยการรวบรวมข้อมูลจากการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่ติดบนยานพาหนะขนส่งสินค้ากับระบบ NSW

  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT กับเทคโนโลยี Geo-Fence จะสามารถทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงของสินค้าล่วงหน้าก่อนที่ยานพาหนะจะถึงด่านศุลกากร เพื่อตรวจสอบสินค้าได้


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ


  • การเก็บข้อมูลบนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อและการวิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่าง Real-Time

  • การลงทะเบียนผ่านพิธีการทางศุลกากรได้อย่างล่วงหน้าก่อนที่ยาพาหนะขนส่งจะถึงด่านตรวจ โดยการใช้งานอุปกรณ์ เช่น กล้องวงจรปิด (CCTV), เครื่องสแกนรังสีเอ็กซ์, และการติดตามการขนส่งผ่าน GPS

  • การแบ่งปันข้อมูลที่จัดเก็บโดยอุปกรณ์ IoT ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่าง Real-Time



การบูรณาการเทคโนโลยี Blockchain


การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain สำหรับการเก็บข้อมูลที่ไม่รวมศูนย์กลางและที่ไม่สามารถแก้ไขได้ (Decentralized and Immutable Ledger) เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยทำให้ธุรกรรมมีความปลอดภัยและสามารถติดตามการทำงานหรือสถานะตำขอต่าง ๆ ได้


  • ประเทศเกาหลีได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการจัดทำระบบการรับส่งใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ที่สามารถเชื่อมต่อการรับส่งเอกสารดังกล่าวได้ทั้งระหว่างผู้นำเข้าผู้ส่งออกและกรมศุลกากรของประเทศเกาหลีและประเทศปลายทางอีกด้วย 

  • โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถสร้างเอกสารต้นฉบับอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถพิสูจน์และรับรองต้นทางของการจัดทำเอกสารได้ รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ไม่สามารถจัดทำสำเนาลอกเรียนแบบ ตลอดจนเอกสารดังกล่าวสามารถสร้างขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างผ่านหน่วยงานหรือบุคคลที่มีอำนาจ


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ


  • ลดการฉ้อโกง การลอกเลียนแบบ และลดการใช้งานเอกสารกระดาษในการค้าระหว่างประเทศ 

  • ลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามพิธีการทางกรมศุลกากรและเขตการค้าเสรี 

  • ลดเวลาและต้นทุนในการนำเข้าและส่งออกสินค้า 

  • ลดความซับซ้อนของการดำเนินงานเดิม เพิ่มความโปร่งใส และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ


การบูรณาการเทคโนโลยี Big Data Analytics


Big Data Analytics เป็นการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุและแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดในการค้าระหว่างประเทศ


  • EEAS (EU-ASEAN) ได้มีการใช้งาน Data-Driven Approach ในการปรับปรุงกระบวนการการค้าของภูมิภาคและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญ ผ่านการใช้งานเทคโนโลยี Big Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อเจาะจงระบุปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการการค้าระหว่างประเทศ และจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงการทำงาน นโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายระหว่างประเทศ


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ


  • การประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการกำหนดนโยบายทางการค้าและปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ 

  • ลดความล่าช้าในการประมวลผลตำขอต่าง ๆ ของกรมศุลกากร โดยการกำหนดมาตรฐานของการดำเนินงานอัตโนมัติจากการประเมินผลข้อมูล 

  • การปรับปรุงและจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อคาดการณ์ความต้องการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

  • การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมของตลาด แนวโน้มทางการค้า กิจกรรมการดำเนินงานของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และโอกาสการค้าใหม่ๆภายในตลาด

bottom of page