top of page

เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ (Tourism Megatrends) พร้อมแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมและพฤติกรรมการท่องเที่ยว


ในปัจจุบันการท่องเที่ยวกำลังได้ความนิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่มีการเดินทางกันมากขึ้น จะเห็นได้จากข้อมูล พบว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 28.2 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยกว่า 249 ล้านคน ทำให้แนวโน้ม หรือ Megatrends ด้านการท่องเที่ยวกำลังเป็นนิยมและน่าจับตามอง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบันมีดังนี้


  1. ด้านความยั่งยืน (Sustainability) มุ่งเน้นการเดินทางท่องเที่ยวที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และแง่มุมทางสังคมของ ในขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม

  2. ด้านเทคโนโลยี (AI and Technology integration) การใช้เทคโนโลยีเพื่อแนะนำการท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะเจาะจง (Personalized) รวมถึงนำข้อมูลที่ได้จาก Big Data มาประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ เช่น การคาดการณ์แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยว รวมไปถึงซึ่งจะช่วยให้การท่องเที่ยวมีความเป็นเอกลักษณ์และตอบโจทย์ต่อรายบุคคลมากยิ่งขึ้น

  3. ด้านการท่องเที่ยวด้วยตนเอง (Personalization and Customization) ประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวที่ปรับแต่งให้เหมาะกับความชอบ ความสนใจ และความต้องการของนักเดินทางรายบุคคลหรือกลุ่มเล็กโดยเฉพาะ ต่างจากการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมที่นักเดินทางมักจะเดินทางตามกำหนดการเดินทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม แต่การท่องเที่ยวแบบเฉพาะบุคคลจะเป็นการนำเสนอแนวทางการเดินทางที่ยืดหยุ่นและไม่เหมือนใคร

  4. ด้านการท่องเที่ยวจุดหมายปลายทางที่ไม่คุ้นเคย (Rise of off-the-beaten-path destinations) จากปัญหาต่าง ๆ อาทิ Over tourism ในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ยังไม่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

  5. ด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) การปรับตัวในการท่องเที่ยวตามสภาพแวดล้อมแต่ละสถานการณ์ อาทิ ปรับแผนการเดินทางให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการปรับกลยุทธ์การตลาดตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ



แนวทางการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มด้านการท่องเที่ยว

จากแนวโน้มเทรนด์การท่องเที่ยว (Megatrends) ในปัจจุบัน ทำให้การท่องเที่ยวมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ทำให้จะต้องมีการปรับตัวในหลายๆ ภาคส่วน โดยแนวทางในการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแนวโน้มการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ประกอบด้วยทั้งหมด 3 ด้าน ดังนี้


1. การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่น โดยผสมผสานแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 

  • เสนอทางเลือกการเดินทางที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมที่พักที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โปรแกรมชดเชยคาร์บอน และแนวทางปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เป็นต้น  

  • เสนอทางเลือกการเดินทางที่สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประสบการณ์การเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


2. การใช้เทคโนโลยี เพื่อจัดการการท่องเที่ยว ริเริ่มการใช้ประโยชน์จากข้อมูล และเทคโนโลยีเพื่อปรับการเข้าถึงข้อมูล หรือการตลาดให้สอดคล้องความชอบของแต่ละบุคคล โดยอาจทำได้ผ่านการทำการตลาดผ่านนวัตกรรม อาทิ โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีเสมือนจริง ที่ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย และปรับกลยุทธ์ทางตลาดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมได้


3. การพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการฝึกอบรมและเสริมศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน



ตัวอย่างแนวทางการปรับตัวด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ (Best Practice) 


ปัจจุบัน ในหลายประเทศได้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวทางการปรับตัวด้านการท่องเที่ยวข้างต้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งตัวอย่างในการดำเนินงานของต่างประเทศประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้าน Soft Power 2) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และ 3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) โดยมีรายละเอียดแต่ละประเทศ ดังนี้


  • ประเทศเกาหลีใต้ เป็นกรณีศึกษาที่ดีในด้านการนำ Soft Power มาใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยส่งเสริมและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศผ่านกิจกรรม K-Tourism Roadshow เช่น Korea Beauty Festival และ K-Pops Concert โดยได้มีการกำหนดเป็นกลยุทธ์ K-Culture เพื่อเชื่อมโยงการเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวภายใต้แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีการดำเนินงาน เพื่อเชื่อมโยงร้านค้ากับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของต่างประเทศเพื่อการชำระเงินที่สะดวกและให้บริการคืนภาษีทันทีที่ร้านค้าปลอดภาษี อีกทั้งยังมีการโปรโมททัวร์ท่องเที่ยวตามธีมที่กำหนดเองสำหรับแฟน ๆ K-Pop เช่น ถนน BTS เป็นต้น

  • ประเทศจีน เป็นกรณีศึกษาที่ดีในด้านเทคโนโลยี โดยมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น ระบบชำระเงินดิจิทัล Alipay และการใช้ Big Data เพื่อทำความเข้าใจและทราบถึงข้อมูลเชิงลึกของนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาแผนการตลาดต่อไป ซึ่งการดำเนินงานข้างต้นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ภายใต้ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติระยะ 14 (2021-2025) ของประเทศจีน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพสูง และส่งเสริมการท่องเที่ยวอัจฉริยะด้วยระบบดิจิทัล  

  • ประเทศสิงคโปร์ เป็นกรณีศึกษาที่ดีด้านความยั่งยืน (Sustainability) โดยมีตัวอย่างของความร่วมมือใน Singapore MICE Advantage Program ที่ได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว เช่น Singapore Airlines ในการเดินทางได้อย่างยั่งยืนใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น เลือกการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่วนลดการขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์และเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่กำหนดจาก Singapore Tourist Board ในปี 2567


ที่มา 

bottom of page