top of page

Opportunities and Trends for Businesses in Thailand's Carbon Credit Market แนวโน้มและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยในตลาดคาร์บอนเครดิต


ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์สภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกจึงถูกผลักดันให้หันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาร์บอนเครดิต จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถวัดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเศรษฐกิจแบบยั่งยืน


บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจ คาร์บอนเครดิต อย่างละเอียด ตั้งแต่ความหมาย กลไกการทำงาน ไปจนถึงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมกันนี้ เราจะมาวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย เพื่อให้คุณเห็นภาพรวมและแนวโน้มของตลาดนี้ในอนาคต


คาร์บอนเครดิตคืออะไร?

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด หรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกป่า การใช้พลังงานหมุนเวียน การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน เป็นต้น ในองค์กรที่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สามารถนำก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้มาจำหน่ายเป็นคาร์บอนเครดิตให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้ และหากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ขายเพื่อเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรของตนเองได้เช่นเดียวกัน โดยการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตจัดเป็นหนึ่งในกลไกตลาดที่สามารถโน้มน้าวให้องค์กร ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และผู้ผลิตรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Market)

ตลาดคาร์บอน คือแหล่งซื้อ-ขาย และแลกเปลี่ยนคาร์บอน สำหรับองค์กรเพื่อนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนที่กำหนดไว้ โดยตลาดคาร์บอนเครดิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory carbon market) เป็นตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อ-ขายคาร์บอนกำกับอย่างชัดเจน

  2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary carbon market) เป็นตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นโดยไม่ได้มีกฎหมายที่ควบคุมมาบังคับใช้ แต่เกิดจากการร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร ที่ต้องการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัครใจ โดยเป็นการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานเอง


ในขณะที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ เช่นกันคือ


  1. ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ เป็นการทำธุรกรรมผ่านศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยผู้ซื้อ-ผู้ขายสามารถทำธุรกรรมได้ในตลาดกลางที่มีระบบรองรับ ช่วยให้การซื้อ-ขายเกิดความโปร่งใสและมีกฎเกณฑ์ชัดเจน

  2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง โดยไม่ผ่านตลาด ซึ่งช่วยให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายสามารถเจรจาตกลงกันเองตามเงื่อนไข เช่น ปริมาณ ราคา และเงื่อนไขในการส่งมอบ เป็นต้น


ภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

ในประเทศไทย มีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตผ่านการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ที่พัฒนาโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก


เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 ขณะเริ่มต้นโครงการ จนถึงปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม ปี 2567) มีปริมาณการขายคาร์บอนเครดิตรวมกว่า 3.44 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่าซื้อขายรวมกว่า 300 ล้านบาท โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าการซื้อขายถึง 81.34 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 19% เมื่อเทียบกับปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 0.63 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) และคิดเป็นราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 129.50 บาทต่อตัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER ในปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 0.85 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) เปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในปี 2566 จำนวน 243.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคิดเป็น 0.3% เท่านั้น



แนวโน้มและโอกาสของภาคธุรกิจในตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย


ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาด ระดับสากล

ในต่างประเทศเริ่มมีการกำหนดกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการออกมาตรการ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) โดยสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งในปี 2566-2568 อยู่ในระยะการเปลี่ยนผ่าน และเริ่มบังคับใช้ในช่วงปี 2569 เป็นต้นไป ซึ่งธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปอาจต้องเผชิญกับภาษีคาร์บอนในกรณีที่สินค้านั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง การซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดที่มีราคาต่ำกว่าจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถรักษาตลาดส่งออกได้โดยไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้ความต้องการคาร์บอนเครดิตทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2021 มีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นถึง 164% จากปี 2020 เป็น 851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงถึงโอกาสของธุรกิจไทยในการเข้าร่วมตลาดเพื่อทำกำไรและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเชิงสิ่งแวดล้อม


โครงการพัฒนาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย (T-VER)

การพัฒนาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมจากโครงการ T-VER ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โครงการนี้ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนในโครงการในประเทศ เช่น โครงการพลังงานทดแทนหรือการปลูกป่า เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองหรือขายในตลาดได้


ราคาคาร์บอนเครดิตอยู่ในระดับต่ำ

ข้อมูลจาก TGO ระบุว่าราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศอื่น ๆ เช่น EU มีราคาคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 75–85 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย โดยมีสาเหตุมาจากในประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) อย่างเป็นทางการ จึงเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยที่สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศ โดยเป็นประโยชน์ในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการระดมทุนขององค์กร และสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของต่างประเทศที่ดำเนินการตามมาตรการและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้



การสนับสนุนโดยนโยบายภาครัฐ

รัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ Nationally Determined Contributions (NDCs) ของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยมีแผนลดการปล่อยก๊าซลง 20-25% ภายในปี 2030 ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจในประเทศต้องปรับตัวตามนโยบายนี้ การใช้คาร์บอนเครดิตจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


สรุป

         คาร์บอนเครดิตจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ ในปัจจุบันตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการ T-VER เป็นกลไกหลักในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้ นอกจากนี้ ราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับตลาดโลก ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตรายสำคัญในภูมิภาค การเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับสากล นโยบายส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐ และความต้องการของภาคเอกชนที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


ที่มา

bottom of page