top of page

Sustainable Banking บทบาทของธนาคารในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


Sustainable Banking, TIME consulting

ปัจจุบันทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development หรือเรียกสั้นๆ ว่า SDGs ซึ่งเป็นแนวคิดขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในภาคธุรกิจเองก็ได้นำแนวคิดนี้มาผนวกกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และในปัจจุบันมีคนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้นเป้าหมายด้านความยั่งยืนจึงกลายมาเป็นความจำเป็นทางธุรกิจ โดยกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเพื่อให้ธนาคารมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้น แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงถูกนำมาปรับใช้ร่วมกับการดำเนินงานภาคการเงินและการธนาคาร ที่เรียกว่า การธนาคารยั่งยืน หรือ Sustainable Banking โดยในบทความนี้ เราจะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความเข้าใจถึง Sustainable Banking มากยิ่งขึ้น


Sustainable Banking, TIME consulting


Sustainable Banking คืออะไร ?

การธนาคารยั่งยืน (Sustainable Banking) คือ การนำหลักแนวคิดพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้กับภาคการเงินและธนาคาร ด้วยการให้สถาบันทางการเงินมีส่วนร่วม ในการบริหาร จัดการดูแลและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การธนาคารยั่งยืนจะมีการนำหลักการเกี่ยวกับถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG เข้ามาผนวกกับการดำเนินธุรกิจธนาคารจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดคุณค่า และประโยชน์กับทั้งตัวธนาคารร่วมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในหลายๆ มิติ


Sustainable Banking, TIME consulting

วัตถุประสงค์ของ Sustainable Banking

ธนาคารได้เล็งเห็นถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น โดยได้นำเข้ามาประยุกต์กับการดำเนินงานของธนาคาร เนื่องจากปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตามประเด็น ESG ซึ่งสามารถแบ่งรายละเอียดได้ดังนี้ 1. ปัญหาด้านก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากธนาคารรู้ดีว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินงานมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศทั่วโลก จึงพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการสนับสนุนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดโลกร้อน 2. การควบคุมและปกป้องข้อมูลลูกค้าเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบทางสังคมของธนาคาร การลงทุนในเทคโนโลยีความปลอดภัย และการพัฒนานโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับความปลอดภัยข้อมูลเป็นสิ่งที่ธนาคารมุ่งเน้น เพื่อคุ้มครองข้อมูลลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของข้อมูล และสุดท้าย 3.ปัญหาด้านการบริหารความเสี่ยง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และการพัฒนานโยบายเพื่อให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ธนาคารต้องดำเนินการอย่างเต็มที่


แนวโน้มการเติบโตของ Sustainable Banking

มูลค่าของสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมธนาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2015-2021 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตอีกร้อยละ 12.9 ในปี 2026 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เช่น ความมุ่งมั่นของธนาคารในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึง ESG การให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจและโครงการที่คำนึงถึง ESG และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืน รวมทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าและนักลงทุน ความตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น และนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจและโครงการที่คำนึงถึง ESG เป็นต้น ซึ่งการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ยั่งยืนจากกิจกรรมธนาคาร สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตัวอย่างของธนาคารกสิกรไทยที่ได้วางแนวคิด “ESG” หัวใจสำคัญพาให้กสิกรไทย เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยให้ลูกค้า สังคม ประชาชน ประเทศไทยและโลกเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันอีกด้วย



Sustainable Banking, TIME consulting


ผลิตภัณฑ์และบริการของ Sustainable Banking

การนำหลักแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนมาผนวกในสินค้าและบริการของธนาคารสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม การออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินยั่งยืน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้รับความนิยม ซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์การเงินยั่งยืนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่

  • สัญญาเงินกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Loan) เป็นสัญญาเงินกู้ที่ระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินกู้อย่างชัดเจนว่าต้องนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ยั่งยืน เช่น โครงการด้านพลังงานสะอาด โครงการด้านสิ่งแวดล้อม หรือโครงการด้านสังคม

  • การลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Investment) เป็นการลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG เช่น การลงทุนในกองทุนรวม ESG หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

  • สัญญาเงินกู้สีเขียว (Green Loan) เป็นสัญญาเงินกู้ที่มุ่งเน้นไปที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  • ตราสารหนี้สีเขียว/ตราสารหนี้สภาพอากาศ (Green/Climate Bonds) เป็นตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นไปที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมหรือสภาพอากาศโดยเฉพาะ

ผลิตภัณฑ์การเงินยั่งยืนช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนมากขึ้น และหันมาลงทุนในโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว


ความท้าทายของ Sustainable Banking

โดยปัจจุบันพบว่าการทำตามแนวทางการธนาคารยั่งยืนมีความท้าทายเชิงกลยุทธ์ของการเงินและธนาคารยั่งยืน ซึ่งแบ่งออกเป็นความท้าทายภายในและภายนอก ดังนี้


ความท้าทายภายใน

  1. วิสัยทัศน์ : การริเริ่มกิจกรรมการเงินยั่งยืนยังมีข้อกังขาและการต่อต้านจากหน่วยงานภายใน รวมทั้งการที่ผู้บริหารยังไม่มีพันธะและความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการริเริ่มด้าน ESG

  2. กลยุทธ์ : การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนและ ESG มีความซับซ้อนและมีสเกลขนาดใหญ่ รวมถึงองค์กรขาดทักษะ ความรู้ และผู้มีประสบการณ์สำหรับการวางกลยุทธ์และดำเนินการ

  3. ความคุ้มค่า : การเปลี่ยนแปลงด้าน ESG และความยั่งยืนอาจต้องสูญเสียรายได้และคู่ค้าธุรกิจ อีกทั้ง การนำไปปรับด้าน ESG ยังขาด Business case ที่แข็งแรงและชัดเจน

ความท้าทายภายนอก

  1. ข้อบังคับ : การขาดมาตรฐานระดับโลก หรือคำจำกัดความทางกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับและเกณฑ์ตลาดที่จะสร้างความมั่นใจทางผลิตภัณฑ์และชื่อเสียงให้แก่นักลงทุนและผู้ออกหลักทรัพย์

  2. ข้อมูล : ข้อมูล ESG ในตลาดมีความกระจัดกระจาย มีความไม่ชัดเจนและไม่เพียงพอ

  3. โครงสร้างพื้นฐาน : โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลง

  4. นักลงทุน : นักลงทุนยังขาดความรู้ในด้านความยั่งยืน เครื่องมือ และความคุ้มค่า รวมถึงนักลงทุนมีความกังวลด้านความเสี่ยงและการต้องใช้ต้นทุนเพิ่มในการลงทุนด้าน ESG

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่เกิดขึ้นนั้น สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้จากการสร้างมาตรฐานกลาง คำจัดความ หรือกฎหมายที่ให้ธนาคารสามารถอ้างอิงและปฏิบัติตามได้ สร้างความร่วมมือและมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ระหว่างธนาคารและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืนและผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ตอบโจทย์นักลงทุน


บทสรุป

ธุรกิจทุกรูปแบบรวมไปถึงธนาคารนั้นต่างมุ่งหวังแต่ผลกำไรเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ถึงแม้กระนั้นการสร้างกำไรของบริษัทในบางครั้งอาจสร้างผลกระทบในแง่ลบให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่ได้เต็มใจจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงควรเป็นความรับผิดชอบของทุกธุรกิจที่จะต้องร่วมมือกันภายในอุตสาหกรรมแล้วสร้างแนวทางหรือหลักการที่จะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กับสร้างผลกระทบในเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)ไปด้วยเช่นกัน


เรียบเรียงโดย วรินทร เปรมรัศมี

Senior Business Analyst, TIME Consulting


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

bottom of page