![](https://static.wixstatic.com/media/1eefb9_7f6fad79ba32444ab31694cb8825f02c~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_551,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/1eefb9_7f6fad79ba32444ab31694cb8825f02c~mv2.jpg)
ในประเทศไทยตลาดค้าส่งในกิจการโทรคมนาคมประกอบด้วย 4 ประเภทบริการหลัก ได้แก่ บริการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม, บริการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม, บริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม, และบริการขายส่งโทรคมนาคมเพื่อขายต่อบริการ ซึ่งในบางตลาดมีผู้ให้บริการน้อยรายหรือผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาด (Significant Market Power: SMP) ทำให้เกิดปัญหาในการเข้าใช้บริการ เช่น เงื่อนไขไม่เหมาะสมหรือค่าตอบแทนสูงเกินไป ส่งผลต่อการแข่งขันและการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ ตัวอย่างเช่น บริการท่อร้อยสายสื่อสารที่มีผู้ให้บริการหลักเพียงรายเดียว และมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนสูงเกินไปจนกระทบต่อนโยบายของรัฐในการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน
การกำกับดูแลบริการค้าส่งในกิจการโทรคมนาคมจะอยู่ภายใต้การควบคุมของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีประกาศต่าง ๆ เช่น ประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2556 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างความเป็นธรรมในตลาด โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมต้องเปิดการเข้าถึงบริการให้ผู้ให้บริการรายอื่นและมีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนสูงสุดที่สามารถเรียกเก็บได้ในบางบริการ
![](https://static.wixstatic.com/media/1eefb9_8c23fef0ea914463a4686bbd4f5b5f7f~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_613,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/1eefb9_8c23fef0ea914463a4686bbd4f5b5f7f~mv2.jpg)
ปัจจุบันการกำกับดูแลบริการค้าส่งในประเทศไทยมีการใช้ข้อกำหนดที่เหมือนกันสำหรับทุกบริการและไม่มีการแยกข้อกำหนดระหว่างผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาด (SMP) กับผู้ให้บริการรายอื่น แม้จะมีคำสั่งของ กสทช. ให้ผู้ให้บริการที่เป็น SMP ต้องปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะ แต่ก็ยังคงอ้างอิงแนวทางการปฏิบัติตามประกาศเก่า ซึ่งอาจทำให้การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดเป็นไปอย่างจำกัด เพราะบริการค้าส่งแต่ละบริการ มีลักษณะของสภาพตลาดและความจำเป็นในการกำกับดูแลที่ต่างกัน
การกำหนดข้อกำหนดแก่ผู้ให้บริการทุกราย เช่น การเปิดเผยสัญญาการให้บริการและอัตราค่าตอบแทน หากใช้กับผู้ให้บริการที่เป็น SMP จะช่วยส่งเสริมความโปร่งใสในตลาด โดยทำให้หน่วยงานกำกับดูแลและผู้ให้บริการรายอื่นสามารถเปรียบเทียบได้ว่าการให้บริการนั้นไม่มีลักษณะที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อกำหนดดังกล่าวกับผู้ให้บริการที่ไม่ได้เป็น SMP อาจส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการลดลง
ตัวอย่างต่างประเทศมีการกำกับดูแลบริการค้าส่งในกิจการโทรคมนาคมอย่างไร ?
![](https://static.wixstatic.com/media/1eefb9_5a5c9cca249d4ba787f716a293e3640e~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_613,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/1eefb9_5a5c9cca249d4ba787f716a293e3640e~mv2.jpg)
จากตารางจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศมีการกำหนดกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน โดยหลายประเทศมีการกำกับดูแลผู้ให้บริการที่เป็น SMP ด้วยข้อกำหนดที่มากกว่าผู้ให้บริการรายอื่น และในบางประเทศมีการกำกับดูแลโดยวิเคราะห์แนวทางการกำกับดูแลแยกรายบริการ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และสร้างความเป็นธรรมในตลาด
ประเทศไทยควรมีการปรับปรุงการกำกับดูแลบริการค้าส่งในกิจการโทรคมนาคมอย่างไรให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเท่าเทียมกัน ?
![](https://static.wixstatic.com/media/1eefb9_c49756f7e1964ee7a4d003204dd0ec74~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_613,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/1eefb9_c49756f7e1964ee7a4d003204dd0ec74~mv2.jpg)
จากรูปแบบการกำกับดูแลในต่างประเทศ สามารถนำมาปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลบริการค้าส่งในกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยได้ โดยปรับปรุงจากรูปแบบการกำกับดูแลแบบเดิมที่เป็นการกำกับดูแลทุกบริการด้วยข้อกำหนดที่เหมือนกัน และไม่มีการแยกข้อกำหนดระหว่างผู้ให้บริการที่เป็น SMP กับผู้ให้บริการรายอื่น เป็นการกำกับดูแลโดยวิเคราะห์แนวทางการกำกับดูแลแยกรายบริการ และแบ่งการกำกับดูแลออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) บริการที่ต้องเปิดการเข้าถึงบริการและกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทน (Open Access & Price Regulation) 2) บริการที่ต้องเปิดการเข้าถึงบริการ (Open Access) 3) บริการที่ต้องติดตามการให้บริการ (Monitor) และกำหนดให้ผู้ให้บริการที่เป็น SMP ต้องเปิดการเข้าถึงบริการและมีการกำกับดูแลค่าตอบแทน หรือมีข้อกำหนดอื่น ๆ
โดยบริการที่ต้องเปิดการเข้าถึงบริการและกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทน รวมถึงผู้ให้บริการที่เป็น SMP ในทุกบริการควรมีข้อกำหนดที่มากกว่าผู้ให้บริการรายอื่นในบริการที่ต้องเปิดการเข้าถึงบริการ หรือบริการที่ต้องติดตามการให้บริการ เช่น การกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่สะท้อนต้นทุน การจัดทำข้อเสนอการให้บริการ และการเปิดเผยสัญญาการให้บริการเป็นการทั่วไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะที่บริการที่ต้องเปิดการเข้าถึงบริการ อาจต้องจัดทำข้อเสนอการให้บริการ แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสัญญาเป็นการทั่วไป และสามารถเจรจาต่อรองอัตราค่าตอบแทนกันเองได้ และสำหรับบริการที่ต้องติดตามการให้บริการอาจจัดทำแค่ข้อมูลสรุปการทำสัญญาเพื่อรายงานให้ กสทช. ทราบ
การแบ่งระดับการกำกับดูแลจะส่งผลดีอย่างไรต่อกิจการโทรคมนาคม ?
![](https://static.wixstatic.com/media/1eefb9_760effb96982418cb5ce9e676152bafe~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_613,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/1eefb9_760effb96982418cb5ce9e676152bafe~mv2.jpg)
การแบ่งระดับการกำกับดูแลจะช่วยทั้งในด้านการกำกับดูแล และด้านการแข่งขันในตลาด โดยในด้านการกำกับดูแลจะช่วยให้มีการกำกับดูแลที่เหมาะสมในแต่ละบริการ มีความชัดเจนในเรื่องหน้าที่ของผู้ให้บริการมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระในการกำกับดูแลที่ไม่จำเป็นให้กับสำนักงาน กสทช. ในส่วนของด้านการแข่งขันในตลาดจะช่วยให้มีการแข่งขันในตลาดค้าส่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกำกับดูแลผู้ให้บริการที่เป็น SMP อย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถเจรจาตกลงเงื่อนไขและอัตราค่าตอบแทนระหว่างกันได้ รวมถึงมีการกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนในบริการค้าส่งที่เป็นต้นทุนหลักในการให้บริการโทรคมนาคมอื่น ๆ ทำให้ไม่เกิดอุปสรรคในการเข้าใช้บริการ นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดค้าส่งที่เป็นธรรมจะส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดค้าปลีก โดยช่วยให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในตลาดค้าปลีก ทำให้ผู้ใช้บริการปลายทางมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น เกิดการแข่งขันในตลาดค้าปลีก ซึ่งจะทำให้ค่าบริการค้าปลีกมีอัตราที่เหมาะสมมากขึ้น และเกิดการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง
สรุป
ปัจจุบันบริการค้าส่งในกิจการโทรคมนาคม บางประเภทมีผู้ให้บริการน้อยราย หรือมีผู้ให้บริการที่มีอำนาจเหนือตลาด (SMP) ซึ่งส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ การกำกับดูแลที่ใช้ข้อกำหนดเดียวกันทุกบริการและไม่มีการแยกข้อกำหนดระหว่างผู้ให้บริการ SMP กับผู้ให้บริการรายอื่น ทำให้การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดมีข้อจำกัด ซึ่งประเทศไทยสามารถนำแนวทางการกำกับดูแลที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับมาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริการที่ต้องเปิดการเข้าถึงและกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทน (Open Access & Price Regulation) , บริการที่ต้องเปิดการเข้าถึง (Open Access) , บริการที่ต้องติดตามการให้บริการ (Monitor) รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้ผู้ให้บริการ SMP ต้องเปิดการเข้าถึงบริการและกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนหรือมีข้อกำหนดเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งในตลาดค้าส่งและค้าปลีก และช่วยให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ที่มา
·สำนักงานโครงข่ายพื้นฐานการใช้และเชื่อมต่อโครงข่าย: ประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2556
Ofcom: Statement: Promoting investment and competition in fibre networks – Wholesale Fixed Telecoms Market Review 2021-26
ACCC: Declared Services
IFT: FEDERAL TELECOMMUNICATIONS AND BROADCASTING LAW
MCMC: Commission Determination on Access List
https://www.mcmc.gov.my/en/media/announcements/commission-determination-on-access-list-2