หากสังเกตในแวดวงเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจในปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะกับตัวองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งเป็นกลุ่มองค์กรด้านไอทีไม่ว่าจะเป็น Meta, Microsoft, Google หรือ Amazon ต่างก็มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทั้งในด้านการปรับลดกำลังคนในองค์กร การพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและนำเข้ามาใช้ทดแทนแรงงาน เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลที่ทุกองค์กรยังให้ความสำคัญและพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าในปี 2024 ยังคงเป็นยุคของเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอดจนเรื่องของความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ที่ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตามองและการสร้างความยั่งยืน ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของโลก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือทุกองค์กรต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความเข้าใจในการเลือกใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาสนับสนุน ทดแทน เปลี่ยนแปลง และพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยคุณจักรกฤษณ์ สังกิตติวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจได้เผยว่า
"ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเราได้พบว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของเทคโนโลยีสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ Omdia บริษัทวิจัยตลาดและที่ปรึกษาในการให้บริการข้อมูลและการวิเคราะห์เกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่ได้เผยแพร่เทรนด์ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานขององค์กรในปี 2024 ซึ่งจะช่วยให้องค์กรปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ"
เทรนด์เทคโนโลยี (Trend Technology) ปี 2024
เทรนด์เทคโนโลยี ปี 2024 ประกอบด้วย
1. ทุกคนต้องสื่อสารกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) อย่าง ChatGPT จาก OpenAI ได้ดึงความสนใจจากเหล่าผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก จนได้รับฉายาว่า “ผู้ช่วยในการทำงาน” โดยหากย้อนกลับไปดูในช่วงเดือนมกราคมปี 2023 ChatGPT สามารถดึงผู้ใช้งานมากถึง 100 ล้านคน ด้วยความสามารถของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่สามารถเข้าใจภาษาในบริบทผ่านอินเทอร์เฟสของ Generative AI ที่มีความเข้าใจและพร้อมทำตามคำสั่ง ประเมินเหตุผลในระดับสูง และสร้างโค้ดได้ จึงทำให้สามารถทำงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ยังคงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่ากลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และการแข่งขันในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม องค์กรจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านการฝึกอบรมให้พนักงานสามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความชำนาญในด้านนี้
2. 6G และบทบาทของ AI ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
ปี 2024 ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการแข่งขัน 6G เนื่องจาก WRC-23 (การประชุมทางวิทยุโลก) ของ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) โดยในกลุ่มสถาบันการศึกษา ผู้จำหน่ายโทรคมนาคม และผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่างก็เริ่มศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี 6G ทั้งนี้ทาง Omdia คาดการณ์ว่า 6G จะสามารถใช้งานเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2028 ถึง 2030 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นประเด็นที่ผู้บริหารด้านโทรคมนาคมมองว่าต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในด้านของการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาออกแบบกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลง โดยมีเป้าหมายหลัก ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรคมนาคมให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ได้ดีขึ้น และเตรียมพร้อมขายโซลูชัน 6G ให้กับลูกค้าและภาคธุรกิจ จนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้เริ่มประยุกต์ใช้AI ไปแล้วในบางด้าน เช่น การจัดการและดำเนินการเครือข่ายและกิจกรรมการจัดการลูกค้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2024 เราจะได้เห็นการนำ AI มาใช้ในวงกว้างมากขึ้น โดย CSP (ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม) จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตของ AI ในทุกฟังก์ชันทางธุรกิจและงาน
ซึ่งคุณปาณิศา ธรรมาธิวัฒน์ Managing Consultant ได้เสริมถึงประเด็นนี้ว่า
“ในเชิงการพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายนั้น โครงข่าย 6G จะสามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น มีความเสถียรมากขึ้น มีความหน่วงที่ลดลง รวมทั้งมีต้นทุนในการรับส่งข้อมูลที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับโครงข่าย 5G แต่นอกเหนือจากการพัฒนาโครงข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดทำบริการที่โครงข่าย 5G นำเสนอ อาทิ ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Driving) การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery) ผู้ใช้งานยังคงคาดหวังที่จะเห็นบริการรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างคุณสมบัติของโครงข่าย 6G การเชื่อมต่อระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนอย่างไร้รอยต่อ และการใช้ AI หรือ Machine Learning มาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล ผู้ใช้งานยังคงคาดหวังที่จะเห็นบริการรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือการทำงาน โดยผสมผสานระหว่างคุณสมบัติของโครงข่าย 6G การเชื่อมต่อระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนอย่างไร้รอยต่อ และการใช้ AI หรือ Machine Learning มาช่วยในการบริหารจัดการข้อมูล"
3. AI และการบริการ (XaaS) กับการเงิน (FinOps)
ในปีที่ผ่านมาองค์กรต่างกังวล และตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ ChatGPT ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการนำ AI เข้ามาใช่ในองค์กร เช่น การลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) การลงทุนในแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) การลงทุนในเครือข่ายความเร็วสูงและมีความเสถียร ตลอดจนการลงทุนในบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มหันมาใช้โซลูชัน FinOps แนวคิดการจัดการต้นทุนกี่ยวกับคลาวด์ และการเพิ่มมูลค่าเงินทุนให้สูงสุด พร้อมกับนำเทคโนโลยี Everything as a Service (XaaS) มาผนวกในการบริหารจัดการในองค์กร เนื่องจากสามารถช่วยลดต้นทุน และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยทางด้านคุณธนโชติ วุฒิจินดาสกุล Director Digital Transformation ได้แสดงมุมมองในส่วนนี้ว่า “ในยุคของ XaaS (Everything-as-a-Service) ที่มีการให้บริการทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในระบบคลาวด์ รวมถึง AIaaS (AI-as-a-Service) ที่ให้บริการการทำงานของ AI ในลักษณะแบบ as a service อยู่ในระบบคลาวด์ด้วยเช่นกัน ย่อมส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในองค์กรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การใช้แนวทางปฏิบัติ FinOps จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้องค์กรสามารถใช้การบริการทุกอย่างในคลาวด์ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด”
4. พฤติกรรมการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป และ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
หลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคจำนวนมากยกเลิกการรับบริการเคเบิ้ลทีวี และหันมาใช้บริการสตรีมมิ่งแทน เนื่องจากความสะดวกและราคาที่ย่อมเยากว่า ส่งผลให้สื่อโทรทัศน์แบบดั้งเดิมเริ่มสูญเสียฐานผู้ชมไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ในปี 2024 พฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอีกขั้นหนึ่งคือ ผู้บริโภคที่ใช้บริการสตรีมมิ่งจะเริ่มมองหาคอนเทนต์ฟรี ที่ไม่ต้องเสียเงิน ถึงแม้ว่าจะต้องยอมรับชมโฆษณาออนไลน์ที่เข้ามาแทรกระหว่างการชมคอนเทนต์ ซึ่งหากดูผลการสำรวจของ Deloitte ที่พบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกว่า 75% ยินดีที่จะรับชมโฆษณาเพื่อแลกกับคอนเทนต์ฟรี แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลต่อการเติบโตของโฆษณาออนไลน์ผ่านคอนเทนต์ฟรี มากไปกว่านั้นปัญญาประดิษฐ์ AI จะเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมสื่อมากขึ้น แม้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยี AI อาจจะสร้างความกังวลให้กับวงการสื่อ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างโอกาสในการก้าวหน้าครอบคลุมทั้งในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ผลิตเนื้อหา ผู้ให้บริการ ไปจนถึงผู้จำหน่ายเทคโนโลยี
5. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้อง “ดีเพียงพอ” และ “ปรับตัวอยู่เสมอ”
ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มากขึ้น ซึ่งในปี 2024 องค์กรต่าง ๆ จะเล็งเห็นถึงแนวทางการป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์แบบ "ดีพอ" ซึ่งมุ่งไปที่การระบุและลดความเสี่ยงที่ร้ายแรง แนวทางนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพ และใช้ต้นทุนที่ไม่สูงมาก สำหรับด้านการจัดการความเสี่ยงของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ผู้บริหารด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ และมีความรู้และความเข้าใจในความเสี่ยงทางไซเบอร์เป็นอย่างดี รวมถึงมีทักษะในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อลดและปรับสมดุลความเสี่ยงขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคุณจักรกฤษณ์ สังกิตติวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ ได้เน้นย้ำในส่วนนี้ว่า “ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นปัญหาที่องค์กรต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญ ทุกคนควรมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการนำองค์กรไปสู่การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ”
6. เทคโนโลยีการผลิตและความยั่งยืน
อุตสาหกรรมการผลิตเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย อาทิ ความต้องการลูกค้าที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และลดความสูญเสียต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาไปสู่กระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน โดยผสานการทำงานระหว่าง Information technology (IT) และ Operational technology (OT) ที่จะช่วยในการจัดการข้อมูลและระบบ และการควบคุมเครื่องจักร การนำทั้งสองเทคโนโลยีมาผสานกันจะช่วยให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในขณะเดียวกันการจัดการพลังงาน ( Energy Management System ) จะมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีการปรับรูปแบบอาคารให้กลายเป็นอาคารอัจฉริยะมากขึ้น ช่วยสนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนช่วยลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพด้านพลังงานของอาคาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
7. เทคโนโลยี AI และ IoT สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่
การผสมผสานเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) และ Internet of Thing (IoT) รวมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้อุปกรณ์และระบบการทำงานต่าง ๆ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และสามารถเสริมศักยภาพในการสร้างมูลค่ามหาศาลในหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรม เช่น ระบบดูแลสุขภาพอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ ระบบขนส่งอัจฉริยะ เป็นต้น ในขณะที่ eSIM (Embedded SIM) ที่จะต้องใช้ควบคู่กับ IoT จะมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความกะทัดรัดกว่าและมีความปลอดภัยมากกว่า eUICC (Embedded Universal Integrated Circuit Card)
โดยคุณวาสิน พิชญสถิต Managing Consultant (Strategy & Management) ได้เสริมว่า
“ความเป็นไปได้ในปี 2024 ที่นวัตกรรมของโลกจะเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด (Exponential Growth) ด้วยการผสมผสานทางเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการทำงานให้อุปกรณ์และระบบการทำงานต่าง ๆ แม่นยำ มีประสิทธิภาพและบูรณาการณ์ร่วมกันยิ่งขึ้น ในภาคธุรกิจ หรือการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น การนำ AI และอุปกรณ์ IoT มาสังเคราะห์การใช้ชีวิต (Digital Twin) ด้วย AI เพื่อสร้างแบบจำลองของข้อมูลพฤติกรรมมนุษย์ หรือมาใช้ร่วมกับการตรวจ วิเคราะห์ และติดตามด้านสุขภาพ (Health Tracking System) นวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Autonomous)ที่เป็นการทำงานระหว่างอุปกรณ์ IoT AI จนไปถึงเทคโนโลยี 5G ก็จะช่วยสร้างความแตกต่างในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมปีนี้ อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน"
ถึงแม้ว่าในปี 2024 แนวโน้มและเทรนด์ต่าง ๆ ยังคงพุ่งเป้าไปที่เรื่อง AI ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถสร้างประโยชน์ และคุณค่าให้กับทุกภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงเป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านการลงทุน และอบรมทรัพยากรบุคคลให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนลงทุนในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเทคโนโลยี AI มาพร้อมกับความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น องค์กรจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อปกป้องข้อมูลและระบบ AI จากภัยคุกคาม และทำให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
ที่มา: https://informatech.turtl.co/story/omdia-trends-to-watch-2024/page/13/1?elqTrackId=18BFAB19C20D7583166CE67E7DE911D0&elq=65d2ea8a1cfe403fbf51c84e49f39839&elqaid=39304&elqat=1&elqCampaignId=