กลุ่มประเทศ CLMVT คือใคร ?
กลุ่มประเทศ CLMVT หมายถึง กลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ที่มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกัน ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการรวมกลุ่มกันโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศสมาชิกร่วมกัน อันจะมุ่งไปสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาการที่ยั่งยืนภายในภูมิภาค โดยความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันมีประเด็นครอบคลุมที่หลากหลาย อาทิ
1. ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้า
ที่มีการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ไปจนถึงการลดภาษีและกำแพงการค้าระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนการค้าข้ามพรมแดน
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ผ่านการสร้างโครงข่ายคมนาคม อาทิ ถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการด้านพลังงานร่วมกัน อาทิ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ และการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิก
3. การส่งเสริมการท่องเที่ยว
ผ่านการส่งเสริมนโยบายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวทั้งภายในระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก และการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกกลุ่มประเทศสมาชิก
4. การเกษตรและอุตสาหกรรม
ผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม
5. การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ผ่านการสร้างโอกาสในการพัฒนาการศึกษา และฝึกอบรมระหว่างประเทศสมาชิก ไปจนถึงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และวิชาชีพ
6. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
ผ่านความร่วมมือในการจัดการปัญหา การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า การจัดการน้ำเสีย ไปจนถึงความรวมมือในการสร้างโครงการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติ และสัตว์ป่าในภูมิภาค
โดยความร่วมมือเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกันอย่างรอบด้าน เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิก CLMVT และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนภายในกลุ่มประเทศอีกด้วย
ทำไมต้องมีข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ?
การแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ในช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2022 มีส่วนสำคัญในการกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นดิจิทัล (Digitalization) มากขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 2020 ที่เป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดนั้น ภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าการค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึงกว่า 20 เท่า จากประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการคาดการณ์ว่าตลาดการค้าทางดิจิทัลในภูมิภาคจะขยายตัวสูงขึ้น โดยมีมูลค่าสูงถึงเกินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน ค.ศ. 2025 ซึ่งภูมิทัศน์ด้านการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประเทศจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
การก้าวสู่ยุคดิจิทัลย่อมทำให้เกิดความท้าทายใหม่ ๆ ขึ้น เช่น ประเด็นด้านการแบ่งปันข้อมูลระหว่างพรมแดนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งนำไปสู่ความจำเป็นในการออกแบบมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลร่วมกัน (Personal Information Protection) ไปจนถึงการเปิดพื้นที่กระบะทรายสำหรับทดลองนวัตกรรมและการกำกับดูแลด้านข้อมูล (Data Innovation and Regulatory Sandbox) หรือ การเกิดขึ้นของนวัตกรรม อาทิ เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และอื่น ๆ ซึ่งในบริบทของการค้าระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะ (1) ช่วยให้ประเทศสามารถทำงานร่วมกันในระบบดิจิทัล มีกรอบการทำงานร่วมกันในด้านกฎและมาตรฐานดิจิทัล (2) สามารถแบ่งปันและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และ (3) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างพันธมิตรทางเศรษฐกิจเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการจัดทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยเติมเต็มความต้องการดังกล่าวหากต้องการพัฒนาร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศ CLMVT ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
กลุ่มประเทศ CLMVT จะได้อะไรจากการมีข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ?
โดยการผลักดันให้เกิดข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยสร้างความได้เปรียบ และช่วยให้เกิดการพัฒนา โดยสามารถจำแนกประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้เป็น 8 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การส่งเสริมการเจริญเติบโต และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Growth & Integration)
ผ่านการ (1) ลดอุปสรรคหรือกำแพงการค้าด้านดิจิทัลของกลุ่มประเทศ CLMVT ช่วยให้ภาคธุรกิจของแต่ละประเทศสามารถเข้าถึงตลาดและมีส่วนร่วมในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ได้ง่ายยิ่งขึ้น (2) เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ เนื่องจากการค้าและการลงทุนในด้านดิจิทัลมีศักยภาพทางเทคโนโลยีมากกว่าการค้าและการลงทุนเชิงกายภาพ และ (3) สร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัล
2. การส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Advancement)
ผ่านการ (1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลร่วมกัน อาทิ โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และศูนย์ข้อมูล (Data Center) เนื่องจากความตกลงทางเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถเป็นเครื่องมือหรือข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศได้ นับเป็นการกระตุ้นให้เกิดความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันของกลุ่มประเทศในความตกลง และ (2) พัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และการขยายตัวของธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
3. การกำกับดูแลที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Regulatory Harmonization)
โดยข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรการ กฎระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานในกิจกรรมที่เป็นดิจิทัล ช่วยลดความซับซ้อนในการกำกับดูแล ซึ่งจะลดต้นทุนของภาคธุรกิจในทำตามมาตรการในการกำกับดูแล (Compliance Cost) ในกรณีที่ธุรกิจมีการดำเนินการในหลายประเทศที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ความร่วมมือในการกำกับดูแลจะช่วยให้เกิดกฎเกณฑ์ร่วมกันในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ช่วยให้การไหลผ่านของข้อมูลข้ามพรมแดนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศ สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
4. การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Development)
ร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงสามารถอยู่ในรูปแบบการร่วมกันยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงของแรงงานร่วมกัน เพื่อให้กำลังแรงงานมีทักษะด้านดิจิทัลสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และประเภทงานที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล
5. การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment)
กับกลุ่มประเทศอื่น เนื่องจากตลาดดิจิทัลที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีความน่าดึงดูดในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถทางธุรกิจของกลุ่มประเทศ CLMVT ในการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ ๆ อีกด้วย
6. การสร้างโอกาสในการพัฒนาการให้บริการภาครัฐ (Improved Public Services)
ซึ่งหากข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมีความครอบคลุมถึงประเด็นด้านการให้บริการภาครัฐ จะช่วยให้กลุ่มประเทศ CLMVT สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกัน ช่วยให้การให้บริการมีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐในประเด็นด้านเศรษฐกิจดิจิทัล จะช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถสร้างข้อตกลง กฎระเบียบ และรูปแบบในการกำกับดูแลสินค้าและบริการดิจิทัลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถทำร่วมกันได้ง่ายขึ้น และยังเอื้อต่อความร่วมมือในเชิงการค้าระหว่างประเทศ
7. การสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Resilience and Adaptability)
ผ่านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศ CLMVT จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการตอบสนองต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจ และเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาทิ การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเรามีบทเรียนจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่ส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) อย่างกว้างขวางในระดับเศรษฐกิจโลก ซึ่งการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกันภายในกลุ่มประเทศจะช่วยลดความเสี่ยงของวิกฤต ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
8. การสร้างความได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Benefits)
กล่าวคือกลุ่มประเทศ CLMVT สามารถรวมกลุ่มกันในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นในฐานะกลุ่มก้อนทางเศรษฐกิจเดียวกันได้ ส่งผลให้อำนาจต่อรองของกลุ่มประเทศ CLMVT สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์
กลุ่มประเทศ CLMVT พัฒนามาถึงจุดใดในเรื่องข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ?
สถานการณ์การพัฒนาร่วมกันของกลุ่มประเทศ CLMVT มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยเองที่จัดได้ว่าเป็นประเทศพี่ใหญ่ ที่มีความพร้อมในหลายด้านเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่น ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ CLMVT มาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการจัดเวทีการประชุม CLMVT Forum โดยกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดให้มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 ทำหน้าที่เป็นเวทีพูดคุยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศในกลุ่ม CLMVT โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ข้อ ได้แก่
1. ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค
2. สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศสมาชิก
3. แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนานโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
4. ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิก และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
5. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในภูมิภาค
โดยในการประชุมดังกล่าวมีกิจกรรมที่ตอบวัตถุประสงค์การจัดงานอย่างหลากหลาย ครอบคลุมกิจกรรมอาทิ การสัมมนาเกี่ยวกับหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการพัฒนา การจัดแสดงสินค้าและบริการของประเทศสมาชิก ไปจนถึงการพบปะและเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างโอกาสที่ดีสำหรับการเสริมเสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนา และสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคในอนาคต
หากจะยึดโยงสถานการณ์ความร่วมมือเฉพาะอย่างเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มประเทศ CLMVT โดยอาศัยข้อมูลจากการหารือผ่านการประชุม CLMVT Forum ซึ่งเป็นเวทีที่ทำให้ทราบถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำในกลุ่มประเทศสมาชิกจะเห็นได้ว่า แนวคิดด้านความมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด สะท้อนได้จากการประชุม CLMVT Forum ปี 2018 ซึ่งมีหัวข้อการหารือภายใต้แนวคิด “ทะยานสู่อนาคตด้วยการใช้เทคโนโลยี” (CLMVT Taking-Off Through Technology) ซึ่งมีประเด็นหลักในเรื่อง บทบาทของเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงโลกการค้าและการลงทุน (Technology to Change Trade and Investment) โดยในการหารือมีการกล่าวถึง
1. ความจำเป็นในการสร้างบรรทัดฐานกฎระเบียบร่วมกันในด้านธรรมมาภิบาลข้อมูล (Intraregional Level of Data Governance: Single Policy or Framework on Data Regulations) เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกรรมดิจิทัลระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก และการให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูล (Data Protection) ที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายตัวของธุรกรรมดิจิทัลซึ่งมีข้อมูลเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
2. ความจำเป็นในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure Connectivity) เพื่อเพิ่มศักยภาพ และเชื่อมโยงการค้าร่วมกันในภูมิภาคที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัล และยังรวมถึงการผลักดันการเรียนรู้ และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับประเด็นด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาภูมิภาคและสร้างความก้าวหน้าร่วมกันใน CLMVT อย่างยั่งยืน
3. การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) กลางของกลุ่มประเทศ CLMVT จะมีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ และบุคคลธรรมดา ทั้งในเชิงพื้นที่ที่จะช่วยเชื่อมต่อภูมิภาคเข้ากับเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่า ในการประชุม CLMVT Forum 2018 ได้มีการพูดถึงในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศสมาชิกอยู่แล้ว ซึ่งควรผลักดันต่อยอดให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าประเทศสมาชิกในหลายด้าน ควรเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนในประเด็นด้านเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMVT
อะไรคือก้าวต่อไปของกลุ่มประเทศ CLMVT ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ?
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกลุ่มประเทศ CLMVT แม้จะมีแนวคิด และความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ แต่กลุ่มประเทศสมาชิกเอง ยังคงขาดกฎระเบียบ มาตรฐาน ไปจนถึงข้อตกลงร่วมกัน ที่จะมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงควรมีการจัดทำข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่มประเทศ CLMVT เกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มในกลไกดังกล่าว ซึ่งบทบาทของเวที CLMVT Forum ในปี 2024 ที่กำลังจะจัดขึ้น ควรมีการหารือถึงการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทยควรถอดบทเรียนจากข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่มีการทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างกว้างขวางอย่าง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) ซึ่งเป็นความตกลงร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และชิลี ซึ่งจัดเป็นต้นแบบสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มประเทศ CLMVT สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกับได้อย่างมีแบบแผน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา