top of page

Source Code Review เส้นทางสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย


ปัจจุบันการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม มีการวางแผนบริหารทรัพยากร รวมทั้งมีการตระหนักถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น


ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ Source Code Review หรือ การตรวจสอบซอร์สโค้ด ของระบบ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ เพราะไม่เพียงแต่ช่วยในการค้นหาข้อผิดพลาด แต่ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพของซอฟต์แวร์ในหลายๆ ด้าน


Source Code Review คืออะไร?

Source Code Review หรือการตรวจสอบโค้ดต้นฉบับ เป็นกระบวนการที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์คนหนึ่ง (ผู้รีวิว) ตรวจสอบโค้ดที่เขียนโดยนักพัฒนาคนอื่น (ผู้เขียน) เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่น การหาข้อผิดพลาด เพื่อช่วยระบุและแก้ไขข้อผิดพลาดในโค้ด เช่น บั๊ก (bug) ตรรกศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง หรือการละเมิดกฎการเขียนโปรแกรม นอกจากนี้ยังเป็นการปรับปรุงคุณภาพของโค้ด เพื่อให้โค้ดอ่านง่าย เข้าใจง่าย และสามารถบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ประเภทของ Source Code Review

การทำ Source Code Review สามารถแบ่งได้หลายประเภทตามวัตถุประสงค์ วิธีการ ผู้ตรวจสอบและเครื่องมือ โดยสามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้


  • Static Code Review เป็นการตรวจสอบโค้ดโดยไม่ต้องรันโปรแกรม มุ่งหาข้อผิดพลาดในไวยากรณ์ของภาษาโปรแกรม (syntax errors) ตรรกะที่ไม่ถูกต้อง (logic errors) โครงสร้างโค้ด (code structure) และสไตล์การเขียน (coding style) มักใช้เครื่องมือช่วยในการตรวจสอบ เช่น  Java , C+ ,C++ 

  • Dynamic Code Review เป็นการตรวจสอบโค้ดโดยการรันโปรแกรม มุ่งหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นขณะรันโปรแกรม (runtime errors) เช่น บั๊ก (bugs) หน่วยความจำรั่วไหล (memory leaks) หรือประสิทธิภาพที่ช้า (performance issues) มักใช้เทคนิคการทดสอบ เช่น การทดสอบแบบหน่วย (unit testing) หรือการทดสอบแบบผสานรวม (integration testing) 

  • Formal Code Review เป็นกระบวนการที่เข้มงวด มีความเป็นทางการ โดยมีการกำหนดขั้นตอน เอกสาร และเครื่องมือที่ใช้ในการรีวิวอย่างชัดเจน มักใช้ในองค์กรขนาดใหญ่หรือโครงการที่สำคัญ  

  • Informal Code Review เป็นกระบวนการที่ยืดหยุ่น อาจจะทำแบบรวดเร็ว (ad-hoc) หรือใช้เครื่องมือช่วยตรวจสอบเบื้องต้น มักใช้ในองค์กรขนาดเล็กหรือโครงการที่ไม่ซับซ้อน 

  • Peer Review เป็นการตรวจสอบโค้ดโดยเพื่อนร่วมทีมในโปรเจคเดียวกัน ช่วยให้ทีมรู้สึกมีส่วนร่วม และเรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เหมาะสำหรับการตรวจสอบทั่วไป 

  • Manager Review หัวหน้างานตรวจสอบโค้ดเพื่อให้แน่ใจว่าโค้ดนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร เหมาะสำหรับการตรวจสอบโค้ดที่สำคัญ 

  • Expert Review ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเฉพาะทางตรวจสอบโค้ด เพื่อให้ได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เหมาะสำหรับการตรวจสอบโค้ดที่ซับซ้อน หรือโค้ดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ 

  • Manual Code Review เป็นการตรวจสอบโดยอาศัยความรู้ความสามารถของมนุษย์ ให้ความยืดหยุ่นสูง แต่ใช้เวลานาน 

  • Automated Code Review เป็นการตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือช่วยในการตรวจสอบเบื้องต้น เช่น การหา syntax errors หรือการละเมิดกฎ coding style ช่วยประหยัดเวลา แต่ไม่สามารถแทนที่การตรวจสอบโดยมนุษย์ได้


ขั้นตอนการทำ Source Code Review

  1. เตรียมตัว: เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการเริ่มต้น Source Code Review โดยการเตรียมตัวด้วยการกำหนดผู้รีวิวที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การตรวจสอบโค้ดมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายชัดเจน เช่น การหาข้อผิดพลาด การปรับปรุงคุณภาพ หรือการถ่ายทอดความรู้ เพื่อเตรียมเอกสารประกอบที่จำเป็น เช่น รายละเอียดโค้ด มาตรฐานการเขียนโปรแกรม เอกสารประกอบการรีวิว ซึ่งจะช่วยให้การรีวิวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

  2. ตรวจสอบโค้ด: เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการวิเคราะห์และตรวจสอบโค้ดอย่างละเอียด โดยการอ่านโค้ดเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับลำดับการทำงานและโครงสร้างของโปรแกรม การตรวจสอบไวยากรณ์ ตรรกะ โครงสร้างโค้ด และสไตล์การเขียน เพื่อหาข้อผิดพลาดและจุดที่ต้องปรับปรุง โดยมีการจดบันทึกประเด็นที่พบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในขั้นตอนถัดไป 

  3. แจ้งผล: หลังจากที่ผู้รีวิวได้ตรวจสอบโค้ดเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องแจ้งผลการรีวิวให้ผู้เขียนทราบอย่างรายละเอียดและสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้เขียนเข้าใจข้อผิดพลาดหรือประเด็นที่ต้องปรับปรุงได้อย่างชัดเจน รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม และตอบคำถามและข้อสงสัยของผู้เขียนโค้ดเพิ่มเติม 

  4. ติดตามผล: การติดตามผลเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญในการดูแลและควบคุมคุณภาพของโค้ด โดยผู้รีวิวจะตรวจสอบว่าผู้เขียนได้ปรับปรุงโค้ดตามที่แนะนำหรือไม่ และตอบคำถามเพิ่มเติมหากมีข้อสงสัยใด ๆ ที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน


เมื่อไหร่ที่ควรทำ Source Code Review

  • ช่วงกำลังพัฒนาโค้ด (Code development): ควรมีการตรวจสอบซอร์สโค้ดในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาโค้ด ก่อนที่โค้ดจะถูกรวมเข้ากับโค้ดหลัก เพื่อช่วยระบุปัญหาด้านความปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการ  

  • ระหว่างการรวมโค้ด (Code integration): เมื่อโค้ดถูกรวมเข้ากับระบบหลัก ควรมีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานการเข้ารหัส ไม่ทำให้เกิดช่องโหว่ หรือทำลายฟังก์ชันการทำงานที่มีอยู่ 

  • ก่อนการนำซอฟต์แวร์ไปใช้งานจริง (Pre-deployment): ควรดำเนินการตรวจสอบซอร์สโค้ดก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริง เพื่อให้มั่นใจว่าช่องโหว่หรือข้อผิดพลาด ถูกแก้ไขก่อนการนำไปใช้งาน 

  • หลังการนำซอฟต์แวร์ไปใช้งาน (Post-deployment): ในบางกรณี อาจมีการตรวจสอบซอร์สโค้ดหลังจากการปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาใดๆ ที่อาจพลาดไปในระหว่างการตรวจสอบหรือการทดสอบก่อนหน้านี้ 


ทำไมการทำ Source Code Review ถึงเป็นสิ่งสำคัญ ?

Source Code Review เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยการตรวจสอบและวิเคราะห์โค้ดต้นฉบับของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์และวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

เพื่อตรวจสอบและหาข้อผิดพลาดของโปรแกรม 

ช่วยในการระบุและแก้ไขข้อผิดพลาดในโค้ด เช่น บั๊ก (bug) ตรรกะที่ไม่ถูกต้อง หรือการละเมิดกฎการเขียนโปรแกรม อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โปรแกรมทำงานผิดพลาด โปรแกรมหยุดทำงาน หรือช่องโหว่ด้านความปลอดภัย 

ปรับปรุงคุณภาพของซอฟต์แวร์ 

เป็นการปรับปรุงคุณภาพของโค้ดเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ ป้องกันการโจมตีจากผู้ไม่หวังดี และเพิ่มประสิทธิภาพของโค้ด เพื่อให้ทำงานได้รวดเร็วและใช้ทรัพยากรน้อยลง ช่วยให้โค้ดอ่านง่าย เข้าใจง่าย และสามารถบำรุงรักษาได้ง่ายขึ้น และยังช่วยให้โค้ดมีสไตล์การเขียนที่สม่ำเสมอ เป็นไปตามมาตรฐานของทีม 

ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของผู้พัฒนา 

การตรวจสอบโค้ดเป็นกระบวนการที่ต้องทำร่วมกัน จึงสามารถช่วยให้สมาชิกในทีมได้ถ่ายทอดและเรียนรู้เทคนิคการเขียนโปรแกรมที่ดีขึ้น โดยทำให้เกิดการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่น ๆ เช่น ลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา ลดต้นทุนการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์ปัจจุบัน  




bottom of page